วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2558

PACE LINE ขี่กลุ่มอย่างไรให้ปลอดภัย


การขี่กลุ่มเป็นสิ่งที่สร้างการแข่งจักรยานให้มีสีสันแบบที่เป็นอยู่ หลักการง่ายๆก็คือการที่คนหน้าทำหน้าที่ฝ่าอากาศไปด้านหน้า และคนหลังอาศัยกระแสอากาศที่ม้วนวนอยู่หลังคนหน้าเกิดเป็นแรงฉุด ดึงให้คนหลังเดินทางไปข้างหน้าโดยออกแรงน้อยลง และจะยิ่งส่งผลมากขึ้นเรื่อยๆหากกลุ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งการที่ประหยัดแรงนี้เองที่ทำให้เราเดินทางไปได้เร็วขึ้น ไกลขึ้น ด้วยความร่วมแรงร่วมใจสลับกันขึ้นมาทำหน้าที่นี้ และแน่นอนว่าเมื่อคนมาอยู่รวมกัน มันก็ต้องมีกฏ มีกติกามารยาทกันบ้าง ซึ่งไม่มีใครบันทึกเอาไว้หรอกครับ แต่เป็นคำภีร์ที่นักปั่นถ่ายทอดต่อๆกันมา เพื่อความปลอดภัยของพวกเรากันเอง
เอาล่่ะมาเข้าเนื้อหากัน

1.รู้จัก PACE LINE

การขี่กลุ่มแบบที่พวกเราเรียกกัน คือสิ่งที่นักปั่นสากลเรียกรวมๆกันว่า "Pace Line" ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่
-Single Pace Line หรือบางตำราเรียก singular line และยังรวมไปถึง double pace line อีกด้วย การขี่กลุ่มแบบนี้เป็นพื้นฐานแรกสุดของการขี่ร่วมกันเป็นกลุ่ม เหมาะกับการเดินทางไปข้างหน้าเมื่อลมมีทิศทางมาจากทิศหน้าตรงเป็นหลัก คนนำจะทำหน้าที่"หัวลาก"พาเพื่อนๆไปด้วยกัน และสลับผลัดลงไปต่อท้ายกลุ่มให้คนต่อไปทำหน้าที่แทน *ไม่มีกฏตายตัวนะครับว่าจะต้องสลับออกทางด้านซ้ายหรือขวา โดยส่วนมากจะสลับออกทางด้านซ้าย ยกเว้นกรณีที่ลมมาเฉียงจากด้านขวา คนลากจะสลับลงทางด้านขวา เพื่อบังลมให้แถวของเพื่อนที่กำลังจะเปลี่ยนเข้ามา แต่สิ่งจำเป็นคือต้องรู้กัน สื่อสาร ให้สุ้มเสียงกัน และหากคุณเข้าร่วมกลุ่มสิ่งที่พึงปฏิบัติคือ "คำหน้าทำแบบไหน เราทำแบบนั้น" ...ส่วน double pace line หรือแถวคู่ คนนำจะออกแยกไปสองทางเสมอ
-Circular Pace Line หรือการขี่กลุ่มแบบวน คล้ายกับแบบแรกแต่ต่างกันตรงที่คนนำเมื่อผลัดลงไปพักให้คนที่สองขึ้นมาทำหน้าที่คนลาก จะต้องวนต่อๆกันไปตลอดไม่มีจังหวะที่จะไหลลงไปเดี่ยวๆเพื่อต่อท้าย ข้อดีของรูปแบบนี้คือทำความเร็วได้สูงกว่าแบบแรกเพราะไม่ได้อาศัยพลังจากคนหน้าคนเดียว ทุกๆคนจะออกแรงช่วยกันในระดับเท่าๆกัน ข้อควรระวังคือต้องฝึกฝนมาก่อนระดับหนึ่ง มีโอกาสที่จะพลาดเกี่ยวกันเองหากไม่รู้จักวิธีการ
วิธีการขี่ให้ปลอดภัยและนำไปฝึกฝนคือ ก่อนที่คนนำอยู่จะหลบพักออกมาต้องให้คนที่นำก่อนเราส่งเสียงบอกเราก่อนว่าแนวลล้อหน้าของเขาพ้นจากล้อหลังของเราแล้ว และคนหน้าหลบออกมาอย่ากวาดออกไปไกล ให้ออกมาเพียงหนึ่งช่วงคนพอดีๆ คนที่ตามมากำลังจะขึ้นนำแทน ไม่ต้องรีบเร่งขึ้นไปแทนที่ ค่อยๆขี่ไปให้เร็วเท่าเดิมรอฟังเสียงจากคนก่อนว่าแนวล้อพ้นแล้ว (ถ้าฝรั่งจะส่งเสียงว่า"เคลียร์") และคนสุดท้ายก็จะให้สัญญาณก่อนเข้าไปในแถวเพื่อบอกคนหน้าให้รู้ว่าเค้ากำลังจะเป็นคนสุดท้าย
ลองสังเกตุในกีฬาจักรยานดู กลุ่มที่หนีออกมานิยมจะขี่กันแบบนี้ เนื่องจากทุกคนต้องทำงานกันเต็มที่ ไม่สามารถหมกเม็ดได้ และทำความเร็วได้สูงกว่ามาก ทีมไหน หรือกลุ่มไหนที่ขี่ด้วยกันบ่อยๆ ลองฝึกหัดดู มันจะเป็นบันไดไปหาแบบที่ 3 ได้ง่ายขึ้น
การผัดเปลี่ยนว่าจะหมุนทวนหรือตามเข็มนาฬิกา อยู่ที่ตกลงกันและดูทิศทางลมเป็นหลัก โดยสากลจะให้คนพักลงทางที่ลมไม่ได้มา เช่นลมมาจากด้านขวามือ กลุ่มจะวนตามเข็มนาฬิกา แต่หากลมมาจากทางซ้ายมือ กลุ่มจะวนทวนเข็มนาฬิกา
-Echelon Cross Wind หรือการขี่กลุ่มแบบลมด้านข้าง
การขี่จะคล้ายกับแบบที่ 2 แต่กลุ่มจะเอียงไปด้านข้าง ซึ่งการขี่แบบนี้จัดว่าอันตรายที่สุด เพราะล้อหน้าและหลังจะเกยกันอยู่ หากเพิ่งเริ่มขี่แรกๆไม่ควรขี่ให้ชิดกันจนเกินไป และอย่าให้ล้อเกยกันจะดีที่สุด (ดูภาพประกอบ) ด้วยข้อขำกัดของขนาดถนนและเส้นทาง การขี่แบบนี้อาจไม่เหมาะสำหรับการออกทริปหรือการแข่งรายการทั่วไปที่ไม่ได้ปิดภนน แม้แต่โปรเองก็อาศัยการขี่แบบนี้เพื่อบีบพื้นที่และทำเกมส์หนีจากคู่ต่อสู้ในสถานการณ์ที่ลมด้านข้างมาแรงๆ กลายเป็นกลยุทธที่สำคัญ
กติกามารยาทที่พึงทำเมื่อพบกับการขี่แบบนี้ ทางที่ดียอมใจดำแล้วต่อท้ายดูจังหวะไปก่อน จนมั่นใจในตัวเองว่าสิ่งที่เคยฝึกฝนมาสามารถร่วมได้แล้วค่อยเข้าไปร่วมวนในกลุ่ม มิเช่นนั้น ..เกาะตามไปเฉยๆสบายและปลอดภัยกว่า

2.รักษาระยะห่างให้พอเหมาะ

มีคำถามว่าระยะห่างแต่ละคันควรเป็นเท่าไหร่ บางท่านไปดูโปรขี่กันมาห่างกันแค่ 5 นิ้วก็มี แล้วพยายามจะขี่ให้ได้แบบโปร เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็ควบคุมไม่ได้และเกี่ยวกันในที่สุด ระยะห่างที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมาย แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องรักษาระยะนั้นเอาไว้ให้คงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น การเร่งกระชาก หรือการใช้เบรคจึงเป็นสิ่งต้องห้ามของการร่วมขี่กลุ่ม เราต้องเดินทางไหด้วยความเร็วที่คงที่มากที่สุด หากข้างหน้าเร่งความเร็ว ระยะห่างเริ่มมากขึ้น เราควรค่อยๆเพิ่มความเร็วและค่อยๆลดช่องว่างลง (ในสถานการณ์การแข่งควรมีคนทำหน้าที่"เชื่อม") หากข้างหน้าชลอลง เราควรชลอแต่เนิ่นๆ ไม่ใช่กดเบรค หรือปล่อยไหลฟรีขาไปแล้วเกยบานออกข้างๆ ซึ่งอาการบานนี่เองที่ทำให้เกิดสภาพ "ล้อเกย" หรือเมื่อล้อหลังคันหน้าเกยซ้อนล้อหน้าคันหลัง
ล้อเกย คือสาเหตุหลักๆของอุบัติเหตุในการขี่กลุ่มเลยทีเดียว เพราะเมื่อนำเนื้อหาการขี่กลุ่มร่วมกับเนื้อหาเรื่องการขี่ให้นิ่ง จะพบว่า หากนักปั่นละเลยจนเกิดสภาพล้อเกย ร่วมกับคนหน้าปั่นแบบไม่นิ่งสา่ยไปมา หรือนึกจะออกก็ออก เมื่อนั้นก็จะเกี่ยวกันจนล้ม และคนที่ซวยคือเพื่อนๆที่ตามมาอีกเป็นฝูง
นอกจากนั้นการที่ขี่แล้วไม่รักษาระยะให้เหมาะสมก็เป็นอันตรายอย่างมากในหลายสถานการณ์ เช่นถนนแคบ ลงเขา ทางขรุขระ เส้นทางเหล่านี้ นักปั่นควรเพิ่มระยะห่างจากคนหน้าให้มากขึ้น เพื่อชดเชยความผิดพลาดที่อาจเปิดขึ้นได้ แทนที่จะระวังกลัวตนเองจะหลุดกลุ่มก็จี้ติดเอาไว้ และเมื่อมีปัญหาผิดพลาด ก็แก้ไขไม่ทันและเป็นเหตุของอุบัติเหตุได้ในลำดับต่อมา

3.อย่าขี่คนเดียว

หลายๆท่านเวลาขี่กลุ่มท่านกำลังเข้าสู่โหมดข่คนเดียว อยู่กับล้อคันหน้า อยู่กับล้อคนหน้า แม้ว่าท่านจะนิ่ง และรักษาระยะดีอย่างไร ท่านกำลังสร้างความเสีี่ย่งให้กับเพื่อนๆ นักปั่นที่มากประสพการณ์และฉลาด จะมองผ่านไปที่หัวแถวและเส้นทางเสมอ เมื่อหัวแถวเร่งหรือชลอ ท่านสามารถประหยัดแรงได้มากกว่า ยกตัวอย่างเช่นเมื่อหัวแถวเร่งความเร็วสูงจนกลุ่มยืดออก ท่านอาจไม่จำเป็นต้องรีบเร่งตามเมื่อท่านมองไปข้างหน้าพบว่าทางแคบลง หรือกำลังจะเลี้ยว เพราะกลุ่มจะหดลงจนเข้าไปรวมกันเองโดยที่ท่านไม่ต้องเสียแรงเร่งเข้าไป แน่นอนว่าหากท่านก้มหน้าก้มตาปั่นกับล้อหลังของคนหน้า ท่านไม่มีทางรู้และเตรียมตัวรับสถานการณ์ข้างหน้าได้เลย
การเงยหน้ามองไปยังเบื้องหน้ายังข่วยอะไรท่านได้อีกหลายต่อหลายอย่าง ท่านสามารถมองเห็นเพื่อนนักปั่น มองเห็นเส้นทาง อุปสรรค สภาพถนน สิ่งกีดขวาง ซึ่งสำคัญมากกว่าความเร็วบนไมล์ที่กำลังวิ่งอยู่ ฝึกหัดที่จะขี่รักษาระยะโดยที่มองไปที่ไหล่หรือตัวของเพื่อนนักปั่นคนหน้าแทนที่จะจ้องไปที่ล้อหลังแต่เพียงอย่างเดียว
รวมไปถึงอย่าลืมนะครับว่าท่านมีเพื่อนร่วมทางอยู่รอบๆท่าน อย่าทำอะไรให้คนอื่นเดือดร้อนเช่นสั่งน้ำมูก เทน้ำ ราดน้ำ ทิ้งขยะ แม้แต่ฟรีขาปล่อยวางโบกมือลาจากกลุ่ม อย่าลืมบอกคนหลังท่านว่าท่านกำลังทำอะไรอยู่ (มันคือการ"สื่อสาร"กันครับ)
เอาล่ะ... 3 กฏ กติกา มารยาทพื้นฐานนี้ จำให้ขึ้นใจ ก่อนจะปิดท้ายบทความด้วย
Tips and Tricks สำหรับการขี่กลุ่ม
-ฝึกฝนจากเพื่อนๆขนาดเล็ก เริ่มหัดจาก 2-3 คน และค่อยๆขยายมากขึ้นก่อนจะเข้ากลุ่มใหญ่ ก็เฉกเช่นเดียวกับก่อนที่จะมาปั่นร่วมกันกับเพื่อนก็ควรขี่ให้นิ่งเสียก่อน หลายคนกล่าวว่าหากคุณไม่สามารถขี่กับเพื่อนคุณ 4-5 คนอย่างราบลื่นแล้ว อย่าได้ริคิดเข้ากลุ่มใหญ่ๆ เพราะจะอันตรายเป็นอย่างยิ่ง -ไม่มั่นใจ ให้อยู๋ท้ายๆ ...อย่ากลัวที่จะโดนหาว่าเป็นปลิงมาเกาะ เพราะหากคุณขึ้นไปแล้วก่อให้เกิดอันตรายจะยิ่งเป็นปัญหาหนักกว่าเก่า หากไม่มั่นใจในทักษะการคุมรถ ไม่มั่นใจในความนิ่ง ไม่มั่นใจในแรงของตน ...อยู่ท้ายของกลุ่มไปเสียตลอดทาง เมื่อคนนำลงมาพักสลับเปลี่ยนก็เปิดช่องด้านหน้าเราให้เขาเข้าแทน หากมีคนหลังจะแซงขึ้นมาก็เปิดช่องให้เขาแซงออกหรือมาแทนที่ได้แต่โดยดี ผมขอแปลง่ายๆว่า"เจียมตัว" ครับ
ปัญหาที่อันตรายมันมาจากที่นักปั่นพมาแต่ใจที่สู้แต่ทั้งทักษะและร่างกายไม่พร้อม
-ความเร็วไม่ใช่สาระสำคัญ ... ระหว่างคุณไปถึงเร็วสนุกสะใจ กับคุณไปไม่ถึงเพราะล้มเสียก่อน ผมว่าใครๆก็คงเลือกได้ทั้งสิ้นว่าจะเอาทางไหน และการจะเร็วได้สนุกมันต้องผ่านการฝึกฝนทั้งร่างกายและทักษะมาแล้ว มิเช่นนั้น ยอมรับและไปถึงช้าหน้่อยแต่ถึงชัวร์จะดีกว่า หรือให้คิดเสมอว่า หลุดกลุ่มนี้ยังมีกลุ่มอื่น ขอให้ปั่นดีเถอะครับ มีคนอ้าแขนต้อนรับแน่นอน ดีกว่าขาแรงแต่ปั่นแย่ๆ ใครๆก็ไม่อยากให้ร่วมแม้จะขาแกร่งปากเก่งขนาดไหน
-สุดท้ายที่สำคัญที่สุดกับการฝึกฝน ทั้งความปลอดภัยและพัฒนา .... ฝึกกับคนที่เก่งใกล้กับเรา ...ตรงนี้จะตรงข้ามกับคำแนะนำว่าอยากเก่งให้ขี่กับคนเก่งกว่านะครับ เพราะการขี่กลุ่มเป็นทักษะที่สำคัญ พยายามหาเพื่อนที่แข็งแรงพอๆกัน ทักษะพอๆกัน ค่อยๆพัฒนาไปด้วยกัน อย่าพยายามฝืนฝึกขี่กลุ่มไปกับกลุ่มขาแรงที่ลากจนคุณไส้แทบแตกแล้วแค่เอาตัวรอดก็หายใจทางเหงือกแล้ว ...หาเวลาฝึกฝนพัฒนาทักษะเหล่านี้เสียก่อนที่จะไส้แตก เพราะตอนนั้นคุณไม่มีเวลามาเรียนรู้อะไรหรอกครับ
ลองนำไปคิด ใส่ใจ และอย่าลืมฝึกฝนกันให้ดี เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง และเหนือสิ่งอื่นใดคือความปลอดภัยของเพื่อนนักปั่น อุบัติเหตุจักรยานร้อยละร้อย คนก่อ คนทำไม่ได้เจ็บมากหรือเสียหาย แต่คนที่เจ็บหนักหรือเสียหายมากคือคนที่ตามมาแบบดวงลากมาล้ม ....อย่านำความสุข ความสนุก และสะใจของตนเอง มาก่อให้เกิดความเสี่ยงกับผู้อื่นเลย ขอแก้ไขบทความเพิ่มเติมครับ ตกหล่นไปได้อย่างไร...

การสื่อสารพื้นฐานในกลุ่ม ผมไม่อยากเรียกว่าเป็นสัญญาณมือครับ แต่อยากให้รับรู้เอาไว้ในส่วนที่เป็นสากลของนักปั่นจักรยานจริงๆ ไม่เหมือนกับสัญญาณมือจรจรของจักรยานครับ สัญญาณมือพื้นฐานพวกนี้อาจต่างกันในแต่ละที่แต่โดยมากนักแข่งอาชีพที่เห็นจะใช้แบบนี้ตรงกันนะครับ

1.การขยับศอก หมายถึงต้องการจะลงพักให้คนต่อไปขึ้นมาทำหน้าที่นำกลุ่ม ตามหลักการจริงๆคือขยับด้านไหนลงด้านนั้นแต่จากที่ไปนั่งไล่ดูโปรแข่งมา ... พบว่าครึ่งๆของภาพที่เห็นจะไม่ได้ตามหลักนี้ครับ ดังนั้นผมจึงขอเสนอว่า แค่รู้กันว่าขยับคือจะลงก็พอครับ ...ทำไมต้องขยับศอก?? ในเมื่อส่วนมากเราจะชินการยกมือโบกกันมากกว่า (ที่ญี่ปุ่นใช้การโบกมือมากกว่าขยับศอกเช่นกัน) เพราะการขยับศอกเราไม่ต้องเอามือออกจากแฮนด์ครับ ที่สำคัญ คนหลังสามารถเห็นได้ง่ายชัดเจน ไม่สับสนกับการสลัดมือคลายเมื่อย หรือการชี้อะไรบนพื้นครับ

2.การเอามือกำไว้ด้านหลัง 1 ข้าง มักจะเป็นข้างซ้ายนะครับ แปลว่ากำลังลดความเร็วลง คนหน้าจะทำสัญญาณนี้เพื่อบอกให้กลุ่มรู็ว่าเค้าลดความเร็วลง แต่ไม่ได้ต้องการเปลี่ยนลงไปพักไม่ต้องแซงขึ้นมา ที่ว่ามักจะเป็นมือซ้ายเพราะ มือขวาจะได้คุมเบรคหลังอยู่ หากเอามือขวากำเหลือมือซ้ายจับเบรคหน้า อาจเกิดเหตุไม่คาดฝันกำเบรคหน้าแล้วตีลังกาได้ สัญญาณมืออื่นๆ แม้จะมีความเป็นสากลในหมู่นักจักรยานแต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่แตกต่างกัน ผมจึงขอไม่นำเสนอ เดี๋ยวจะกลายเป็นแบบแผนที่ต้องปฏิบัติตาม คำแนะนำที่ดีที่สุดคือให้เรียนรู้การสื่อสารกับกลุ่มที่เราอยู่ ใช้ทั้งเสียงและการส่งสัญญาณเข้าด้วยกัน ส่งสัญญาณที่สั้น ชัดเจน เสียงที่ดังและกระชับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น