วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เลือกซื้อขนาดจักรยานเสือภูเขาให้พอดีกับตัว

การเลือกรถจักรยานให้พอดีกับตัวคนขับขี่

คุณเชื่อไหมว่า ไม่มีใครถือสายวัดเข้าไปในร้าน ในตอนที่จะเลือกซื้อจักรยานคันแรก แล้วเชื่อไหมว่า แทบจะไม่มีใครเลยที่รู้จักว่า ชิ้นส่วนของจักรยานส่วนไหนเรียกว่าอะไรบ้าง

การเลือกรถจักรยานให้พอดีกับตัวคนขับขี่นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะง่ายนัก เพราะว่าถ้าจะต้องการให้พอดีลงตัวจริงๆก็คงต้องเป็นแบบcustom-made bikeหรือวัดตัวตัดกันเลย เพราะเขาจะวัดช่วงขา( inseem lenght ) ,วัดช่วงตัว( torso lenght ) ,วัดช่วงแขน ,วัดความกว้างของไหล่ฯลฯ เพื่อจะทำจักรยานที่มีความยาวของท่อต่างๆตรงกับขนาดของผู้ขับขี่มากที่สุด แต่ จักรยานประเภทนี้ไม่ใช่ว่าจะหากันง่ายๆ ส่วนราคานั้นก็แพงเอาเรื่องเลยทีเดียว ซึ่งถ้าใครเล่นจักรยานเสือหมอบเมื่อสมัยก่อน ก็คงรู้จักกับร้านจักรยานแถววรจักร ซึ่งรับวัดตัวตัดจักรยานกันเป็นอย่างดีซึ่งสมัยก่อนนั้นจักรยานสำเร็จรูปจากต่างประเทศมีราคาแพงมาก ซ้ำยังหาขนาดที่พอดีกับตัวไม่ง่ายนัก เพราะเสือหมอบจะseriousกับขนาดของรถเป็นอย่างมากผิดกับเสือภูเขา ที่ยังมีความยืดหยุ่นกว่า แต่วัสดุที่จะหามาใช้นั้นเป็นเหล็กhigh tensile steel ซึ่งมีน้ำหนักค่อนข้างมาก ภายหลังนั้นได้เสื่อมความนิยมลง เนื่องจากรถสำเร็จรูปจากต่างประเทศมีราคาลดลง มีขนาดให้เลือกมากขึ้น รวมไปถึงน้ำหนักที่เบากว่า

คราวนี้เมื่อแบบวัดตัวตัดมีราคาแพง แต่แบบสำเร็จรูปมีราคาถูกลง คนจึงหันมาเล่นแบบสำเร็จรูปมากขึ้นซึ่งจักรยานพวกนี้จะคล้ายกับเสื้อผ้าสำเร็จรูปเช่นกัน คือทำมาเป็นขนาดแบบคร่าวๆ เช่น eXtraSmall , Small , Medium , Large , eXtraLarge ซึ่งแต่ละขนาดก็จะเหมาะสมกับคนที่มีความสูงอยู่ในช่วงที่เขากำหนด โดยที่ผู้ผลิตจะวัดสัดส่วนของประชากรในแต่ละกลุ่มช่วงความสูงนั้นๆแล้วจึงนำมาคำนวณหาค่าเฉลี่ย เพื่อจะได้จักรยานที่มีขนาดความยาวของท่อต่างๆใกล้เคียงกับสัดส่วนของคนในกลุ่มนั้นๆมากที่สุด ซึ่งในแต่ละยี่ห้อจะแตกต่างกันไปตามgeometry ที่เขาออกแบบไว้ และอาจจะแตกต่างกันในเรื่องของขนาดช่วงความสูงอีกด้วยซึ่งคล้ายๆกับเสื้อผ้าสำเร็จรูปนั่นแหละครับ

การกำหนดขนาดของจักรยานโดยการวัดความยาวของท่ออาน (seat tube) จากจุดกึ่งกลางของกระโหลก(bottom bracket)ไปยังสุดปลายของท่ออานหรือที่เรียกว่าCenter to topได้เป็นที่นิยมกันในหลายๆยี่ห้อ ซึ่งถ้าเป็นจักรยานในสมัยก่อนคงจะกะขนาดได้ไม่ยากนัก เพราะส่วนปลายของท่ออานจะโผล่พ้นขอบบนของท่อบน(top tube)ออกมาเพียงเล็กน้อย แต่ สำหรับเสือภูเขาในปัจจุบันคงจะบอกยากสักหน่อย เพราะว่าแต่ละยี่ห้อนั้นปลายของท่ออานที่โผล่พ้นออกมาจากขอบบนของท่อบนมีความสั้นยาวที่แตกต่างกันมาก จึงทำให้ไม่สามารถกะเกณฑ์ได้ว่าเฟรมขนาดเดียวกันในต่างยี่ห้อจะมีขนาดใกล้เคียงกันหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในบางยี่ห้อก็ยังมีการวัดขนาดของจักรยานที่แตกต่างกันออกไป โดยจะวัดจากกึ่งกลางกระโหลก ไปยังกึ่งกลางของท่อบนตรงส่วนที่มาเชื่อมติดกับท่ออาน ซึ่งจะเรียกกันว่า Center to center แล้วนอกจาก
นี้บางยี่ห้อที่ท่อบนมีขนาดใหญ่ ก็อาจวัดจากกึ่งกลางกระโหลก ไปยังขอบบนของท่อบนตรงส่วนที่มาเชื่อมติดกับท่ออาน ถ้าเราจะเรียกว่าCenter to top of top tube ก็คงได้ครับ


ดังนั้นจักรยานที่ต่างยี่ห้อกันเราอาจไม่รู้เลยว่าขนาดจะแตกต่างกันอย่างไรถ้าไม่รู้วิธีในการวัด เช่น DBR 16"กับTrek 16.5" ถ้าเอามาเทียบกันจะพบว่าDBR 16"มีขนาดใหญ่กว่าTrek 16.5 "อย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้เพราะDBR วัดจากCenter to center แต่Trek วัดจากCenter to top

ไปดูเรื่องขนาดคนก่อนไหม?

คุณคิดว่าคนที่มีส่วนสูงเท่ากันจะมีขนาดของร่างกายเท่ากันไหม ก็คงจะบอกว่าไม่เท่ากันโดยเฉพาะถ้าเทียบระหว่าง คนไทยกับฝรั่ง แม้กระทั่งคนไทยกับคนไทยด้วยกัน ไม่ว่าระหว่างเพศเดียวกันหรือระหว่างเพศชายกับเพศหญิง

เขาแบ่งร่างกายออกเป็นส่วนๆยังไงบ้าง
inseem length เป็นความยาวช่วงขาที่วัดจากเป้ากางเกงไปยังส้นเท้าในท่ายืนเหยียดเข่าตรง ซึ่งจะมีวิธีวัดได้ง่ายๆและแม่นยำพอสมควรโดยไม่ต้องใช้เครื่องวัดตัว ใช้สมุดหรือหนังสือปกแข็ง ที่มีสันปกหนาประมาณ 1นิ้ว แล้วเอาขาหนีบเอาไว้ดันให้สันปกประชิดติดระหว่างขาให้แน่นที่สุด แล้วเอาขอบของสมุด (ด้านที่ตั้งฉากกับสันปก)ไปชนกับกำแพง ยืนตัวตรงส้นเท้าชิดพื้น กดสันปกให้ชิดหว่างขา แล้วขีดเส้นบนกำแพงในแนวเดียวกับสันปก วัดระยะทางระหว่างเส้นที่ขีดนี้กับพื้น ก็จะได้เป็นค่า inseem length ส่วนTorso length เป็นความยาวช่วงลำตัว โดยวัดจากไหล่ลงไปหาเป้ากางเกง ในทางปฏิบัตินั้นจะวัดในท่ายืนตรงแขน

สองข้างแนบลำตัว แล้ววัดระยะทางจากเป้ากางเกงขึ้นไปถึงขอบบนสุดของกระดูกกลางอก ( รอยบุ๋มระหว่างหัวของกระดูกไหปลาร้า ใต้คอลงมา ) ตำแหน่งนี้จะตรงแนวไหล่พอดีHead length เป็นความยาวช่วงคอ+ศีรษะArm length เป็นความยาวช่วงแขน โดยวัดจากไหล่ไปยังกึ่งกลางฝ่ามือ ในทางปฏิบัติจะวัดในท่ายืนกางแขนตั้งฉากกับลำตัว เหยียดแขนตรง มือกำดินสอ วัดระยะจากหัวไหล่ไปยังดินสอความกว้างของไหล่ จะวัดในท่ายืนตรงแขนสองข้างแนบชิดลำตัว แล้ววัดระยะห่างจากขอบนอกของหัวไหล่ทั้งสองข้าง

ซึ่งในทางทฤษฎี เมื่อผู้ชายมีอายุย่างเข้าวัย 25 ปีหรือ ผู้หญิงมีอายุย่างเข้าวัย 20 ปี ส่วนสูงของร่างกายจะไม่เพิ่มขึ้นอีกจุดกึ่งกลางความสูงของร่างกายควรจะอยู่บริเวณขอบบนของเนินกระดูกหัวเหน่า( Pubic symphysis,ปลายลูกศรสีดำในรูปด้านขวามือ )แต่นั่นมันก็เป็นเพียงแค่ทฤษฎี เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นความยาวinseemควรจะเกือบเท่ากับครึ่งหนึ่งของความสูงรวมของร่างกาย ( ประมาณ46-48%ของความสูงรวม ) แต่ในคนไทยมักจะไม่เป็นเช่นนั้น เหตุผลสำคัญมาจากเรื่องของอาหารการกิน และการออกกำลังกายนี่แหละ ที่มีส่วนทำให้คนไทยโดยเฉลี่ยมีสัดส่วนช่วงขาที่ค่อนข้างจะสั้นทั้งผู้หญิงและผู้ชาย (ส่วนผู้หญิงที่เห็นช่วงขายาวๆนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะมีให้เห็นบ่อยๆ
หรอกนะครับ ถ้าจะเห็นก็คงเห็นจากพวกดารานางแบบนี่แหละครับ)ถ้าเราลองมาดูพวกฝรั่ง ก็จะพบว่าโดยส่วนใหญ่แล้วฝรั่งจะดื่มนมเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าคนไทย รวมไปถึงมีการเน้น และปลูกฝังให้เด็กมีการออกกำลังกายหรือได้เล่นกีฬาเป็นประจำ กระดูกขาจึงรับแรงกระแทกจากพื้นดินอยู่เสมอๆ ส่งผลกระตุ้นให้มีการหลั่ง growth hormoneออกมาในสัดส่วนที่สูงกว่า ทำให้กระดูกท่อนยาว (long bone) เช่นกระดูกแขน,ขา ถูกกระตุ้นให้เจริญงอกยาวกว่าเด็กไทย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะเห็นคนไทยเรานั่งคุยกับฝรั่งในระดับศีรษะที่เท่ากันพอลุกขึ้นยืนคุยกัน ทำไมหัวเราอยู่แค่หูเขาเท่านั้น อะไรทำนองนั้นแหละครับส่วนใครจะว่าเป็นเรื่องของชาติพันธุ์ก็คงไม่ใช่เสียทั้งหมดเพราะฝรั่งที่มีสัดส่วนขาสั้นหลังยาวก็มีให้เห็นบ่อยไปถ้าชาติพันธุ์จะ
มามีส่วนเกี่ยวข้องก็คงเป็นเรื่องความสูงรวมๆนี่แหละครับที่พอจะเห็นกันได้ชัดเจนหน่อย( ลองมองย้อนหลังไปดูญี่ปุ่นในยุคก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สองเปรียบเทียบกันสิครับ แล้วจะเข้าใจเรื่องอิทธิพลของอาหารและการออกกำลังกาย )

ความยาวแขนและความยาวช่วงขาจะมีความสัมพันธ์กันซึ่งคนที่ขายาวก็มักจะมีแขนที่ยาวด้วย และคนที่มีช่วงขาสั้นก็มักจะมีแขนที่สั้นด้วยเช่นกัน (เพราะว่าแขนและขา ต่างก็เป็นlong boneซึ่งจะได้รับอิทธิพลจากgrowth hormoneเช่นกัน ถ้าขาได้รับการกระตุ้นให้งอกยาวออก แขนก็จะได้รับเช่นกัน เพียงแต่ว่าสัดส่วนอาจจะแตกต่างกันในแต่ละคน และระหว่างเพศชายและหญิง )

inseem length จะมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจเลือกขนาดของจักรยาน โดยพิจารณาจากระยะห่างระหว่างท่อบนกับพื้นดิน (stand over height)ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย(จะกล่าวถึงในตอนต่อไป)แล้วยังมีผลต่อความยาวของหลักอานที่จะใช้ ส่วนtorso length + arm length จะเป็นตัวกำหนดการเลือกความยาวของท่อบน+ ความยาวของคอ (stem) รวมไปถึงมุมก้มมุมเงยของคอ(stem angle)

แล้วจักรยานหละมีอะไรมาเกี่ยวข้องบ้าง
ค่า Stand over height เป็นระยะห่างระหว่างขอบบนของท่อบน( Top tube ) กับพื้นดิน แล้วในทางปฎิบัติจะวัดตรงบริเวณไหนของท่อบน เพราะในเสือภูเขานั้นส่วนท่อบนจะลาดเทจากด้านหน้าลงมาหาท่ออาน(Seat tube)ซึ่งสเปคของแต่ละค่ายแทบจะไม่เหมือนกันเลย รวมไปถึงวิธีในการวัดด้วย โดยส่วนตัวแล้วจะใช้วิธีไปยืนคร่อมจักรยาน แล้วเอาหลังแตะกับส่วนหน้าสุดของอาน จากนั้นจึงวัดความสูงของท่อบนในตำแหน่งที่ตรงเป้ากางเกง ก็จะได้ค่าstand over height ใกล้เคียงความจริงที่ใช้งานที่สุด

Stand over height เป็นค่าความปลอดภัยขั้นพื้นฐานในการใช้จักรยาน ใน
ท่านั่งปั่นจักรยานที่ถูกต้องนั้น ปลายเท้า2ข้างของเราจะไม่สามารถสัมผัสพื้นได้การงจากจักรยานโดยวิธีพื้นฐานจะใช้การหยุดรถ แล้วลงจากอานมายืนคร่อมท่อบน โดยวิธีการนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเหลือระยะห่างระหว่าง เป้ากางเกงกับ ขอบบนของท่อบน พอสมควรสำหรับความปลอดภัย(โดยเฉพาะผู้ชาย)รูปภาพซึ่งจะได้กล่าวให้ทราบในตอนต่อไป

ค่าStand Over Height ในรถแต่ละคันจะมีความแตกต่างกันโดยมีผลมาจากมุมของท่ออาน(Seat tube angle,มุมที่ท่ออานทำกับแนวระนาบ) และ ความยาวของท่ออานจากกึ่งกลางกระโหลกไปยังขอบบนของท่อบน หรือ
center to top of top tubeความสูงของกระโหลกจากพื้นดิน ในรถบางยี่ห้ออาจจะมีความสูงของกระโหลกจากพื้นดินค่อนข้างมาก เนื่องจากออกแบบให้ใช้กับภูมิประเทศที่มีก้อนหินใหญ่ เพื่อลดโอกาสที่ส่วนของกระโหลก บันได รวมไปถึงใบจานจะกระแทกกับก้อนหินระยะยุบตัวของชอคแอบซอบเบอร์หน้า (front shock absorber) ชอคหน้ารุ่นก่อนๆจะมีระยะยุบตัวที่ประมาณ 2นิ้วครึ่งหรือ 63 มม. ภายหลังได้มีการเพิ่มระยะยุบตัวขึ้นอีกเป็น 3นิ้วเศษหรือ 80 มม. ซึ่งทางRockshox เรียกมันว่า long travel shock absorber(อย่าสับสนไปแปลว่าชอคแอบซอบเบอร์สำหรับการเดินทางระยะไกลนะครับ เป็นคนละความหมายกันเลยทีเดียว) ในชอคประเภทหลังนี้จะมีความยาวของขาชอคในระยะพักมากกว่าพวกแรกประมาณกว่าครึ่งนิ้วหรือ17มม.ซึ่งจะทำให้ส่วนหน้าของจักรยานถูกยกสูงขึ้นด้วยรูปร่างของท่อบน( Top tube shape ) โดยทั่วไปจักรยานส่วนใหญ่จะใช้ท่อบนมีลักษณะเป็นท่อลาดตรงแต่ในปัจจุบันจักรยานหลายยี่ห้อและหลายรุ่นทีเดียวที่ทำท่อบนให้โค้งลงเพื่อชดเชยกับความสูงของกระโหลกและระยะยุบตัวของชอคหน้าที่เพิ่มขึ้น จึงคล้ายๆกับจะเป็นการเอาใจคนที่มีช่วงขาสั้น ไปกลายๆ ค่า Effective top tube length หรือ Horizontal top tube length ถ้าเราวัดความยาวของท่อบนตามความยาวจริง( actual length ) เราอาจจะไม่ สามารถบอกได้ว่ารถคันนี้มีช่วงยาวจริงๆสักแค่ไหน และไม่สามารถเทียบระยะห่างระหว่างท่อคอ(head tube)กับอานได้เพราะว่าในจักรยานแต่ละขนาด มุมลาดของท่อบนจะแตกต่างกัน ทำให้การวัดความยาวจริงๆไม่ได้ประโยชน์อะไรเราจึงต้องวัดความยาวของท่อบนตามแนวราบแทน โดยวัดความยาวของเส้นที่ลากจากจุดกึ่งกลางตรงบริเวณปลายท่อบนเชื่อมกับท่อคอ ตามแนวขนานกับพื้นราบไปจนถึงกึ่งกลางของท่ออาน หรือหลักอาน(seat post) ความยาวที่วัดได้นี้เรียกว่า"effective top tube length"หรือ"horizontal top tube length"ซึ่งในบางยี่ห้ออาจจะวัดแตกต่างกันไปEffective top tube lengthจะเป็นค่าที่ใช้พิจารณาประกอบการเลือกขนาดรถให้เหมาะสมกับตัวเรา

ความยาวและมุมก้มเงยของคอ ( stem length and stem angle ) โดยปกติแล้วคอ (stem) ที่ติดมากับรถจะมีความยาว และมุมเฉลี่ยสำหรับคนที่ อยู่ในช่วงความสูงเฉลี่ยของรถขนาดนั้นๆและจะเหมาะสมกับลักษณะการใช้รถด้วย เช่น รถเพื่อการออกกำลังกาย หรือ รถเพื่อการแข่งขัน คอมีค่าความยาวหลากหลายขนาด โดยสากลจะวัดจากจุดศูนย์กลางของด้านที่จับกับแกนชอค ไปยังจุดศูนย์กลางของด้านที่จับกับแฮนด์ (handle bar) อาจ จะมีค่าตั้งแต่ 75 - 150 มม. ในแต่ละยี่ห้อจะแบ่งขั้นความยาว (Increment ) ไม่เท่ากัน

มุมก้มเงยของคอ เป็นมุมที่แนวแกนของคอทำกับเส้นที่ลากตั้งฉากกับแกนชอค(ดูรูปด้านบนประกอบ)ซึ่งจะมีค่าหลากหลายตามแต่ละยี่ห้อ ในบางยี่ห้อยังอาจจะวัดมุมที่แนวแกนของคอทำมุมกับแกนชอคแทน เช่น 90 องศาก็จะเท่ากับ 0 องศา ของแบบแรก ) ถ้าต้องการมุมที่ก้มลง หรือมุมติดลบก็ให้กลับคว่ำคอลง

มุมก้มเงยของคอนั้นเราสามารถเลือกเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมกับความยาวช่วงตัวช่วงแขน และลักษณะลีลา รวมไปถึงนิสัยใจคอในการขับขี่ ของผู้ขับขี่เอง แฮนด์ ( handle bar )แฮนด์โดยทั่วไปจะมีความกว้างอยู่ในช่วง 21-24" แฮนด์มีอยู่ 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ แฮนด์ตรง ซึ่งที่จริงแล้วมันก็ไม่ได้ตรงเหมือนชื่อ เพราะมีมุมเอนไปด้านหลังอาจจะตั้งแต่ 0 ไปจนถึง 12 องศาแฮนด์ยกหรือที่เรียกว่าแฮนด์ปีกนก (มันคงจะคล้ายจริงๆกระมัง) จะเห็น
ได้ในรถกลุ่มdownhill หรือ freeride ซึ่งเป็นแฮนด์ที่นั่งขี่สบายค่าอื่นๆความยาวของช่วงล้อ(wheel base),ความยาวของตะเกียบโซ่(chain stay),มุมท่ออาน(seat tube angle), มุมท่อคอ(head tube angle)คงจะขอละเอาไว้ เนื่องจากเราไม่สามารถไปกำหนดกะเกณฑ์กับมันได้ เพราะว่ามันจะขึ้นกับการออกแบบรถรุ่นนั้นๆว่า ต้องการจะให้เป็นรถเพื่อใช้ในการแข่งขัน หรือ รถเพื่อออกกำลังกาย หรือ Sport utility หรือเป็นCity bike ตัวอย่างเช่นรถที่ออกแบบมาสำหรับเป็นรถแข่งจะมีช่วงล้อที่สั้นกว่า มีมุมท่อคอและมุมท่ออานที่ชันกว่ารถที่ออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับออกกำลังกาย เพราะรถแข่งย่อมเน้นที่ความคล่องแคล่วและปราดเปรียว ต่างจากรถที่ใช้ในการออกกำลังกายซึ่งเน้นที่การขี่ง่าย และเสถียรภาพของการทรงตัว อันนี้คงจะขึ้นกับวัตถุประสงค์ในการเลือกซื้อรถของเรา

แล้วตัวของเราหละปรับแต่งอะไรได้บ้าง
คงจะต้องเรียนให้ทราบตรงๆว่าคงจะปรับแต่งอะไรไม่ได้มากไปกว่าที่เป็นอยู่หรอกครับ(ยกเว้นจะมีใครบริจาคให้ทุนไปเกิดใหม่อะไรทำนองนั้นแหละ)เมื่อรู้ว่าปรับแต่งอะไรไม่ได้อีกแล้วก็คงจะต้องยอมรับสังขารของเราแหละ สิ่งแรกที่อยากจะแนะนำก็คือลองวัดวามยาวช่วงขาดูก่อนไหมครับว่ามันสั้นหรือยาวได้ส่วนหรือไม่ เพราะว่าอย่างน้อยมันก็มีส่วนช่วยให้ตัดสินใจเลือกรถได้ง่ายขึ้นบ้าง
คราวนี้ก็คงถึงเวลาที่จะเสียเงินซื้อรถกันหละสิ คงตัดสินใจกันได้แล้วนะครับว่า จะซื้อรถเพื่อเอาไปทำอะไรดี จะเอาไปใช้จ่ายตลาด ออกกำลังกาย หรือ มากไปกว่านั้น อันนี้คงต้องแล้ว แต่ใจและงบประมาณกันแล้วหละครับหาร้านที่เชื่อใจได้(พิสูจน์กันเอาเองนะครับ) เลือกรถที่ถูกใจทั้งยี่ห้อ รุ่น สีสัน อุปกรณ์ที่ติดมากับรถ ของแถมแล้วก็ต้องเลือกให้ได้ขนาดที่พอดีกับตัว ของเรา ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญทีเดียวเลย เพราะว่าอุปกรณ์อื่นๆถ้าไม่พอใจก็พอจะเปลี่ยนกันตรงนั้นได้เลยหรือไม่ก็อาจจะupgradeกันใหม่ได้ในภายหลัง แต่สำหรับเฟรมแล้วถือว่าเป็นหัวใจ หลักของจักรยานเลยทีเดียว ถ้าซื้อผิดขนาดก็คงแก้ไขอะไรได้ยาก แต่ก็แปลกที่คนส่วนมากมักจะซื้อรถที่มีขนาดใหญ่กว่าสัดส่วนของตัวเอง

บังเอิญคุณไปพบจักรยานที่ถูกใจเข้าแล้วหละ คราวนี้จะรู้ได้ยังไงหละว่ามันได้ขนาดพอดีหรือเปล่าขั้นแรกคือให้คุณถอดรองเท้าออกแล้วลองไปยืนคร่อมท่อบนของจักรยานคันนั้น ถ้าคุณเป็นคนที่มีสัดส่วนของร่างกาย รวมไปถึงความยาวช่วงขาที่ไม่ได้เบี่ยงเบนต่างไปจากค่าเฉลี่ยปกติของกลุ่มประชากรที่มีความสูงเท่าๆกับคุณแล้ว ขนาดของจักรยานเสือภูเขาที่ออกแบบมาให้คุณใช้นั้นควรจะมีระยะห่างวัดจากท่อบนถึงเป้ากางเกงของคุณอยู่ในช่วง 2 - 4 นิ้ว ( inseem length ยาวกว่า stand over height2 - 4 นิ้ว ) แต่บางครั้งอาจจะมีปัญหาสำหรับบางคน เช่น ผมมีส่วนสูง167.5ซม. inseemยาว 79ซม.หรือ 31นิ้วนิดๆ แต่ยังสามารถยืนคร่อม Klein attitude'98size M (ซึ่งออกแบบมาสำหรับคนที่สูง 170 - 177 ซม)ได้สบาย โดยยังเหลือระยะห่าง 2 นิ้ว ในขณะที่ถ้ามายืนคร่อมsize S (ซึ่งออกแบบมาสำหรับคนที่สูง 162 - 170 ซม)จะเหลือระยะห่างร่วมๆ 4 นิ้ว ผมอาจ จะเลือกSize M ที่ดูสวยกว่า (รถsize ใหญ่กว่าจะดูสวยกว่ารถsizeเล็ก) คนส่วนใหญ่ก็มักจะเผลอเลือกรถที่ใหญ่กว่าตัวเองเสมอๆ เพราะนอกจากจะดูสวยแล้ว ก็ยังขี่ได้ง่ายในทางเรียบหรือทางตรง แต่ถ้ามาดูกันลึกๆก็จะพบว่า รถsize M มันใหญ่กว่าผมเล็กน้อยเพราะว่าในการเอื้อมจับแฮนด์ผมจะต้องโน้มตัวไปด้านหน้ามากกว่าที่ควร อยู่เล็กน้อยตรงกันข้ามกับรถsize S ซึ่งนั่งได้สบายกว่า หลังอาจจะตั้งไปนิดหนึ่งแต่ก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะเรายังปรับแต่งมันได้อีก สำหรับคนที่มีinseem length สั้นเกินกว่าที่ควรจะเป็นการเลือกขนาดโดยใช้วิธียืนคร่อมเพื่อดูระยะห่างเช่นคนทั่วๆไปนั้น ก็อาจจะได้รถที่เล็กเกินไปและคนที่มีinseem length ยาวเกินกว่าที่ควรจะเป็นการเลือกขนาดโดยใช้วิธียืนคร่อมเพื่อดูระยะห่างเช่นคนทั่วๆไปนั้น ก็อาจจะได้รถที่รถที่ใหญ่เกินไปทางออกสำหรับคนกลุ่มนี้ ก็คือจะต้องไปเทียบกับคนที่มีส่วนสูงใกล้เคียงกันว่าเขาขี่รถขนาดไหนลงตัว แล้วเอามาดัดแปลงให้เข้ากับตัวเอง หรืออาจต้องหาทางออกด้วยการวัดตัวตัดจักรยานกัน ( แพงนะ )

รถใหญ่กว่าตัวเล็กน้อย กับรถเล็กกว่าตัวเล็กน้อยมันต่างกันอย่างไรหลายๆคนคงอาจจะคล้ายกับผมที่มีปัญหาในการเลือกรถที่มีขนาดคร่อมsize ซึ่ง พูดง่ายๆว่า ส่วนสูงของร่างกายเราสามารถขี่รถได้ 2ขนาด เช่น คร่อมกลางระหว่างsize S กับsize M เรามาดูข้อแตกต่างเปรียบเทียบกันดีกว่าครับ รถที่ใหญ่กว่าตัวเล็กน้อย มีข้อดี ได้แก่ดูสวย ขี่ออกกำลังกายหรือเดินทางในทางเรียบสบาย รถนิ่งไม่ค่อยแกว่งไปมาข้อเสียที่สำคัญคือ จะเป็นรถที่ขาดความคล่องตัวโดยเฉพาะการเข้าโค้งที่ความเร็วสูง หรือ การเลี้ยวในที่คับแคบ เช่น ในทางSingle tract (ทางแคบๆที่รถจะผ่านไปได้ทีละคัน) และที่สำคัญก็คือในกรณีที่ต้องการไปลุยในทางโหดๆหรือทางที่มีหินก้อนใหญ่ๆ ระยะห่างระหว่างเป้ากางเกงกับท่อบนอาจจะไม่มากพอ ที่จะให้ความปลอดภัยได้ในขณะที่รถที่เล็กกว่าตัวเล็กน้อย ข้อเสียจะมีก็เพียงแค่ดูไม่สวยนัก ท่อบนที่ลาดลงมากๆทำให้ดูไม่ค่อยจะขลัง เวลาปั่นด้วยความเร็ว รถจะไม่ค่อยนิ่ง หรืออาจจะรู้สึกแกว่งๆข้อดีที่สำคัญคือ จะว่องไวในทางโค้ง ทรงตัวหรือเลี้ยงตัวได้ดีในทางแคบรวมไปถึงระยะปลอดภัยที่เหลือเฟือสำหรับการลุยข้อสรุปคือคุณควรจะเลือกรถที่มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่คุณยังขี่ได้อย่างสบาย (ถ้าหากคร่อมsize ก็ควรเลือกขนาดเล็กกว่าไว้จะดีกว่าครับ) ขั้นที่สองคุณต้องลองมันดูดัวยตัวของคุณเอง เริ่มต้นด้วยการลองปั่นมันไปรอบๆร้าน ดูว่าท่านั่งและความรู้สึกในการบังคับควบคุมเป็นอย่างไร ซึ่งสำหรับผู้ที่ไม่เคยลองมาก่อนอาจจะเป็นเรื่องที่ยากมากสักหน่อย คงต้องอาศัยคนขาย( ซึ่งควรจะไว้ใจได้ ) หรือเพื่อนผู้มีประสพการณ์เป็นผู้ช่วยสังเกตให้ว่าท่านั่งเป็นอย่างไร ท่านั่งที่เหมาะสมนั้นแนวหลังจะทำมุมกับพื้นราบ 45 ํ ศอกจะหย่อนเล็กน้อยไม่ใช่เหยียดตรงจนสุด ส่วนท่านั่งที่ไม่ เหมาะสมนั้นตัวคุณเองอาจจะไม่รู้สึกอะไรในช่วงแรก (เพราะความรู้สึกอยากจะเสียตังค์ซื้อมันมาบดบัง) แต่หลังจากที่ปั่นไปได้สักพักหนึ่ง มันจะเริ่มมีอาการปวดเมื่อยเอว,หลังไหล่,คอ ซึ่งนั่นก็มักจะหลังจากที่คุณจ่ายเงินซื้อมันกลับไปปั่นที่บ้านแล้วเท่านั้น

มันอาจจะใจร้ายไปสักนิด ที่จะบอกว่าคุณจะต้องเป็นผู้สรุปเองว่าพอใจกับรถคันนั้นหรือไม่ เพราะว่าคุณเป็นผู้จ่ายเงิน มิใช่เพื่อนหรือคนขาย ถ้าแน่ใจว่ารถคันนั้นมีขนาดพอดีกับตัวของคุณเองและเป็นที่ถูกใจจริงๆ ก็ซื้อมัน ส่วนเรื่องท่านั่งที่อาจจะรู้สึกว่ายังไม่ค่อยจะลงตัวเท่าไรนัก เรายังสามารถปรับแต่งมันได้อีกพอสมควร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น