วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เทคนิคการขี่เสือภูเขาฝ่าดงหิน

คาดว่าชาวเสือภูเขาทั้งครอสคันทรี่และดาวน์ฮิลล์คงต้องเคยเจอบริเวณที่เต็มไปด้วยหินก้อนเขื่อง ๆ บ้างระหว่างทางที่พากันไปขี่เล่นหรือแข่งขัน เจ้าหินพวกนี้ฝรั่งเขาเรียกว่า “หินหัวเด็ก” (baby head) นับว่าเป็นคำเปรียบเปรยที่ใช้ได้เลยสำหรับภาพของก้อนหินก้อนใหญ่ ๆ ที่ต้องเคลื่อนที่ผ่านไป ซึ่งขนาดใหญ่พอ ๆ กับหัวเด็กทารก บางคนที่มีทางเลือกเพราะวางเส้นทางเอาไว้อย่างดีแล้วก็จะหลีกเลี่ยงบริเวณเหล่านี้ แต่ก็มีอีกหลายคนที่ไม่หลีกเลี่ยงทั้งที่จงใจและไม่ได้ตั้งใจ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะพบกับมันด้วยความตั้งใจหรือเพราะด้วยความเร็วที่พุ่งมาจนหมดทางเลี่ยง ควรจะรู้วิธีเอาตัวรอดจากมันเอาไว้เพื่อความสนุกสนานยามได้แก้ปัญหา และเพื่อลดอุบัติเหตุจากการล้ม ซึ่งสามารถทำให้บาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ไปจนถึงแข้งขาหัก หัวร้างข้างแตก

ถ้าคุณยังไม่เคยพบกับสถานการณ์แบบนี้ เรามีวิธีแก้ปัญหามาฝาก หรือถ้าคุณพบกับมันบ่อย ๆ ระหว่างการสนุกในซิงเกิลแทรก ก็ลองเปรียบเทียบดูว่าวิธีการแก้ปัญหาจะเหมือนกับที่เราเสนอหรือไม่

1. จงสร้างแรงส่งด้วยแรงเฉื่อย
ถ้าเคยควบจักรยานเสือภูเขาฝ่าดงหินมาแล้ว คุณจะรู้ว่าต้องใช้พลังงานมากกับการฝ่ามันไปให้ได้ และจะยิ่งใช้พลังงานมากขึ้นอีกถ้าแรงส่งจากระยะทางก่อนหน้านี้มีน้อยหรือไม่มีเลย เมื่อเข้าใจที่มาแห่งปัญหาแล้วก็ต้องแก้ด้วยวิธีการตรงกันข้าม นั่นคือถ้าทราบว่ามีดงหินอยู่ข้างหน้าก็ต้องสร้างความเร็วให้ได้ระดับหนึ่งก่อนจะฝ่ามันไป พึงระลึกไว้เสมอว่าความเร็วนั้นต้องไม่มากพอจะทำให้ตัวเองตีลังกาข้ามแฮนด์เอาตัวไปฟาดหิน แต่ต้องมากพอที่จะส่งให้รูดล้อผ่านมันไปได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะด้วยการออกแรงปั่นมากกว่าปกติหรือด้วยการลื่นไหลลงมาจากที่สูงก็ตาม
การปั่นจักรยานเสือภูเขาระหว่างดงหินนั้นควรใช้ความเร็วไม่มากไปกว่าการวิ่งจ็อกกิ้ง คุณควรเห็นมันได้ในระยะไกลพอสมควร ไกลพอที่จะเร่งความเร็วจนเมื่อถึงบริเวณแล้วความเร็วนั้นกลายเป็นแรงเฉื่อยส่งรถไปได้ พอถึงตรงนั้นจึงเปลี่ยนเป็นเกียร์ต่ำ ตามที่ผู้มีประสบการณ์ได้แนะนำเอาไว้คือควรจะใช้เฟืองหลังประมาณตัวกลาง ๆ กับจานหน้าใบเล็กสุด
การใช้เฟืองหลังใบกลางจะช่วยให้เปลี่ยนเกียร์ได้อย่างรวดเร็วเมื่อสถานการณ์ตรงนั้นเปลี่ยนไป ท่าทางที่เหมาะสมคือนั่งอยู่บนอาน ไม่จำเป็นต้องลุกขึ้นยืนโยกซึ่งจะทำให้เสียหลักพลาดท่าได้ง่ายกว่า ในการนี้รถแบบฟูลซัสฯ จะได้เปรียบกว่าพวกฮาร์ดเทล เพราะมันลดแรงสั่นสะเทือนและเกาะเส้นทางได้ดีกว่า

2. ใช้ทางตรงดีที่สุด
ทิศทางที่ดีที่สุดจะรอดจากตรงนี้คือเส้นตรง คุณต้องหมายตาบริเวณนี้ไว้ก่อนจะมาถึง ต้องมองไกลก่อนจะเข้าพื้นที่ ถ้าขี่เป็นเส้นตรงไม่ได้ก็ควรให้คดเคี้ยวให้น้อยที่สุด ถึงดงหินเมื่อไหร่ให้มองข้างหน้าในระยะอย่างน้อย 10 ฟุตหรือประมาณ 5 เมตร วางแผนเอาไว้ในใจอย่างรวดเร็วก่อนจะปั่นข้ามมันไปตรง ๆ พยายามหลีกเลี่ยงหินก้อนใหญ่มาก ๆ ให้ได้ หลุดไปตรงนั้นเมื่อไหร่มีสิทธิ์จอดหรือไม่ก็จานหน้าพังเอาง่าย ๆ เพราะมันปีนไม่พ้น พยายามฝ่าหินก้อนเล็กเท่าที่หาได้ในเส้นตรงนั้นแล้วปั่นข้ามมันไปอย่างต่อเนื่อง พยายามให้รอบขาปั่นเป็นวงกลมทั้งผลักและยกเหมือนเป็นมอเตอร์ซึ่งเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา การพยายามเคลื่อนที่อยู่ตลอดนั้นจะทำให้บางครั้งสามารถผ่านบริเวณที่ยากที่สุดไปได้ด้วยแรงเฉื่อย ในดงหินแบบนี้หยุดเมื่อใดหมายถึงจอดเมื่อนั้น


3. หมอบเข้าไว้ ผ่านได้สะดวก
การวางตำแหน่งของตัวเองนับว่าสำคัญมากในการฝ่าดงหิน สาเหตุที่นักจักรยานเสือภูเขาล้มกันมากในบริเวณนี้เพราะส่วนใหญ่ลืมความสำคัญของจุดศูนย์ถ่วงไป เป็นที่ทราบกันอยู่นานแล้วในกฎของวิทยาศาสตร์ที่ว่าจุดศูนย์ถ่วงของวัตถุนั้นยิ่งต่ำวัตถุนั้นก็ยิ่งล้มยาก คุณจะเลื่อนจุดศูนย์ถ่วงของตัวเองให้ต่ำลงได้ก็ต้องด้วยการพยายามทำตัวให้ต่ำที่สุด ด้วยการโน้มตัวไปข้างหน้ามาก ๆ ขณะเดียวกันก้นยังติดอยู่กับอาน ลดแรงสะเทือนด้วยการงอแขนเล็กน้อย ไม่เกร็งร่างกายท่อนบนปล่อยให้เคลื่อนที่เพื่อรักษาสมดุลได้อย่างอิสระ ให้นึกภาพว่ากำลังบดก้อนหินตรงหน้าให้แหลกด้วยล้อหน้า ไม่จำเป็นต้องเร่งเครื่องหรือลุกขึ้นโยกให้ความเร็วสูงขึ้นเลย ทำอย่างนั้นมีแต่จะล้มลูกเดียว และจะเบี่ยงเบนตัวคุณออกจากแนวตรงที่วางไว้ในใจด้วย
เทคนิคที่จะรอดได้ตรงนี้คือปั่นด้วยรอบขาสม่ำเสมอเกียร์ต่ำพอประมาณ สายตาจับจ้องมองอุปสรรคข้างหน้า อย่ามองล้อ ปล่อยให้ตะเกียบราคาแพงของคุณได้ทำงานเต็มที่สมราคาที่จ่ายเพื่อมัน แล้วจะผ่านตรงนี้ไปได้

4. ขี่จักรยานเสือภูเขาให้เหมือนจูงหมา
ถ้านักจักรยานเสือภูเขาท่านใดเคยเลี้ยงหมาอยู่แล้วพามันไปเดินเที่ยงบ้างเป็นครั้งคราว จะทราบดีว่าบ่อยครั้งที่คุณอยากพามันเดินตรง ๆ แต่เจ้าหมากลับพาเฉไฉออกนอกเส้นทางบ่อย ๆ คุณอาจจะยอมให้มันลากไปทางนั้นทางนี้ได้บ้างแต่ในที่สุดก็ต้องตะล่อมมันกลับมาในแนวทางที่คุณต้องการเหมือนเดิม
การขี่จักรยานเสือภูเขาฝ่าดงหินนี่ก็เหมือนกัน แม้คุณจะพยายามวางแนวขี่ให้ตรงแล้วก็ตาม แต่สภาพของหินแต่ละก้อนก็สามารถบังคับให้ไถลออกนอกเส้นทางนั้นได้ ไม่ต้องตกใจถ้าจะถูกแนวหินบังคับให้เฉไปได้เป็นครั้งคราว ที่สำคัญคือคุณต้องทรงตัวบนอานให้ดีที่สุด โยตัวเพื่อรักษาสมดุลเอาไว้เพื่อให้กลับมารักษาแนวไว้ได้เหมือนเดิม ถ้าต้องไถลออกนอกแนวบ้าง เพราะแนวหินบังคับก็ไม่เป็นไร รักษาสมดุลให้ได้เป็นพอ

5. ต้องเชื่อมั่นในจักรยานเสือภูเขาของคุณ
ถ้าทำได้ทั้งสี่ข้อที่กล่าวมาแล้วรอดตัวไปได้ ตอนนี้ก็มาถึงข้อสุดท้ายแล้วคือคุณต้องเชื่อมันในประสิทธิภาพของจักรยานตัวเอง ข้อนี้ไม่ได้เกี่ยวกับราคาค่างวดหรือวัสดุที่ถูกนำมาสร้างเลย มันเป็นเรื่องของการกะยะยะทางเรขาคณิตล้วน ๆ
ขณะที่คุณกำลังเพลิดเพลินกับการไต่ก้อนหินใหญ่น้อยอย่างเมามันอยู่นั้น อยู่ ๆ ก็ปรากฏว่ามีก้อนหินใหญ่โผล่ขึ้นสายตา มันใหญ่กว่าทุกก้อน ใหญ่จนมองผ่าน ๆ ไม่คิดว่าจะพาตัวเองข้ามไปได้ เมื่อเห็นอย่างนี้แล้วทางเลือกของคุณคืออะไรล่ะ จะยอมลงจากจักรยานแล้วจูงผ่านไป หรือว่าจะหลีกเลี้ยวอ้อมมันไปทางด้านข้าง ทำทั้งหมดสองอย่างนี้มีแต่จะทำลายแรงเฉื่อยที่ส่งมาจากต้นทางทั้งนั้น ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือปั่นข้ามมันไป แต่ด้วยข้อแม้ว่าเจ้าหินหัวเด็กก้อนนั้นต้องไม่สูงเกินกว่าระดับหัวกะโหลกหรือดุมล้อ
ด้วยความสูงเท่านี้ถ้าข้ามไปได้ อย่างไรเสียมันก็ไม่กระแทกกับฟันเฟืองจานหน้าแน่นอน แรงเฉื่อยที่ส่งมาประกอบกับแรงปั่นในช่วงต้น ๆ จะช่วยให้ล้อหน้าหมุนข้ามมันไปได้ อย่าพยายามยกล้อหน้าเพราะจะเสียหลักล้ม ให้พากเพียรปั่นไปก่อนในอันดับแรก ถ้าข้ามไม่ได้จริง ๆ แล้วค่อยหาทางทำอย่างอื่น ทางเลือกหลังจากนี้มีมากมายแม้แต่ต้องลงจากอานเพื่อเข็นถ้าหมดหนทางจริง ๆ

นักจักรยานเสือภูเขาทั้งหลายที่ยังไม่เคยเจอดงหินแบบนี้เราหวังว่าคุณคงพอจะนึกออกว่าจะจัดการยังไงกับมัน ถ้าคุณอ่านก่อนทำแล้ว ปรากฎว่ายังพาตัวเองข้ามมันไปไม่ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราเขียนมั่วหรือว่าคุณเองนั้นไร้ความสามารถเพราะความสามารถนั้นจะเกิดได้จากการทำซ้ำ ๆ เพื่อให้เกิดประสบการณ์ ยิ่งมีประสบการณ์มากเท่าใดคุณก็จะยิ่งเอาตัวรอดได้มากเท่านั้น แล้วความสนุกสนานกับความภูมิใจก็จะตามมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น