วันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

หมวกจักรยานที่เหมาะสมกับเรา

หมวกจักรยานที่เหมาะสมกับเรา

ข้อดีของจักรยานนั้น ทุกคนต่างทราบและเห็นดีเห็นงามด้วย แต่ถ้าจะให้มาขี่จักรยาน จะมีสักกี่คนที่ไม่เมินหน้าหนี ยิ่งในเมืองใหญ่ที่ถนนหนทางและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สร้างมารองรับรถยนต์โดยเฉพาะแล้ว การจะนำพาหนะ 2 ล้อ ที่ต้องการพื้นที่อันน้อยนิดในการเคลื่อนตัวร่วมถนนไปด้วยนั้น ดูเป็นเรื่องน่าอันตรายอย่างยิ่ง แต่รู้มั้ยว่าอุบัติเหตุจราจรในประเทศไทยนั้น เป็นอุบัติเหตุจักรยานเพียง 2-3 % เท่านั้นนะ

แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่ควรประมาท เพราะหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ส่วนที่ต้องเจอกับแรงกระแทกต่าง ๆ ก็คือร่างกายของเราล้วน ๆ โดยเฉพาะ "ศีรษะ" ถ้าได้รับการบาดเจ็บอาจมีอันตรายถึงชีวิต จากการศึกษาของนิวยอร์กพบว่า ผู้ขี่จักรยานที่ประสบอุบัติเหตุรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตนั้น 97% ไม่ได้สวมหมวกนิรภัย และศัลยแพทย์ด้านสมองยังยืนยันมาด้วยว่าหมวกนิรภัยนั้นสามารถป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ถึง 85%

ในเมื่อ หมวกนิรภัย ช่วยเพิ่มความปลอดภัยและเสริมความมั่นใจในสวัสดิภาพของชีวิตเราซะขนาดนี้ จะขี่จักรยานตัวปลิวโดยเปิดโอกาสให้เลือดคั่งในสมอง หรือปล่อยให้สมองไหลมาประท้วงอยู่ตามท้องถนนคงใช่ที่ หาหมวกนิรภัยดี ๆ สักใบมาใส่ดีกว่า

เอ..แล้วหมวกจักรยานนี่มีวิธีเลือกยังไงนะ??

1. เลือกสไตล์ที่ใช่!

หากไม่ได้ขี่จักรยานในที่สมบุกสมบันมาก หมวกนิรภัยแบบ Sport ก็เพียงพอแล้ว


แต่ถ้าปกติขี่เสือหมอบ อยากได้หมวกน้ำหนักเบา รูปร่างเพรียวลม มีช่องระบายอากาศใหญ่ ๆ ก็ต้อง Road bike helmets

ส่วนใครที่ชอบลุยกับทางวิบาก แนะนำให้เลือก Mountain bike helmets เนื่องจากออกแบบมาเพื่อการปกป้องอย่างสูงสุด ปกติหมวกรูปแบบนี้จะมีปีกหมวกด้านหน้า และจะครอบคลุมศีรษะด้านหลังทั้งหมด


2. ขนาดต้องเหมาะสม

เมื่อต้องการทราบว่าศีรษะของเราเหมาะกับหมวกไซส์ไหนนั้น ก็ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการนำ สายวัดเอว หรือเชือกอะไรก็ได้ มาวัดรอบศีรษะเราตรงส่วนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เมื่อรู้ขนาดหัวก็มองหาหมวกที่ขนาดพอดีกับเราได้เลย

ขนาดของหมวกทั่วไป

*เล็ก : 20" - 21.75" (51 cm - 55 cm)

*กลาง : 21.75 " - 23.25 " (55 cm - 59 cm)

*ใหญ่ : 23.25 " - 24.75 " (59 cm - 63 cm)

*เล็กพิเศษ : น้อยกว่า 20 " (51 cm)

*ใหญ่พิเศษ : มากกว่า 24.75 " (63 cm)

*ฟรีไซส์(ผู้ชาย) : 21.25 "- 24 " (54 cm - 61 cm)

*ฟรีไซส์(ผู้หญิง) : 19.75 " - 22.5 " (50 cm - 57 cm)

*ฟรีไซส์(เด็ก) : 18 " - 22.5 " (46 cm - 57 cm)

หากขนาดศีรษะของคุณอยู่ระหว่างไซส์ใดไซส์หนึ่ง โดยทั่วไปแล้วแนะนำให้เลือก ขนาดที่เล็กกว่า

3. ปรับระดับให้พอเหมาะ

หมวกนิรภัยที่ดีต้องสัมผัสกับศีรษะของเราโดยรอบ มีสายรัดที่มั่นคง เมื่อสวมแล้วควรจะรู้สึกว่ากระชับแน่นหนา แต่ขณะเดียวกันต้องรู้สึกสบาย ๆ ไม่บีบรัดหรือหลวมเกินไปด้วย เมื่อสวมเข้าที่แล้วส่วนบนสุดของหมวกต้องตั้งฉากกับหน้าผาก และขอบหมวกไม่ควรอยู่เหนือคิ้วมากกว่า 1 นิ้ว

ระหว่างสายรัดกับคางต้องสามารถสอดนิ้วเข้าไปได้เพียง 1-2 นิ้วเท่านั้น สายรัดด้านหน้าและด้านหลังที่อยู่ข้างหูนั้น ควรปรับระยะให้เท่ากัน หากมีปุ่มหมุนปรับระดับความหลวมแน่นของหมวกอยู่ด้านหลัง ต้องปรับจนด้านในกระชับกับศีรษะ

เมื่อปรับขนาดหมวกได้พอเหมาะแล้ว ลองส่ายหัวไปมาแรง ๆ จากหน้าไปหลัง ซ้ายไปขวา ใช้มือผลักหมวกทั้งจากด้านหน้าและด้านหลัง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าแม้จะเกิดการเคลื่อนไหวใด ๆ ขึ้น หมวกจะยังคงสถิตอยู่บนศีรษะเราโดยไม่โคลงไปเคลงมา

     ระดับที่ถูกต้อง            เอียง ๆ แบบนี้ ไม่ถูกนะจ๊ะ

4. มาตรฐานด้านความปลอดภัย

ตรวจสอบให้แน่ใจว่าหมวกที่เราจะซื้อนั้นได้รับการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่เหมาะสม มาตรฐานหลัก ๆ ที่ได้รับความนิยมมีเครื่องหมายรับรอง ดังนี้ CPSC(Consumer Safety Product Commision) , ASTM 1477(American Society for Testing and Materials), Snell B-95 Europe, JIS และ AUS/NZ

5. สวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่ปั่นจักรยาน

แม้ว่าหมวกที่เราเลือกมานั้นจะมีประสิทธิภาพดีเลิศเลอเพียงใดก็คงไม่มีประโยชน์หากเราละเลยไม่สวมใส่ให้เป็นนิสัย "อุบัติเหตุ" น่ะ ไม่เลือกช่วงเวลาหรอกนะจ๊ะ

6. เปลี่ยนหมวกเมื่อไหร่ดี?

เมื่อเกิดอุบัติเหตุ และหมวกของคุณได้ทำหน้าที่รองรับแรงกระแทกไปแล้ว แม้ว่ามองจากภายนอกจะไม่เห็นร่องรอยของความเสียหายใด ๆ คุณก็ควร เปลี่ยนหมวกนิรภัยใบใหม่ทันที แต่หากไม่เคยเกิดอุบัติเหตุเลย ควรเปลี่ยนหลังจากใช้งานไปแล้ว 5 ปี เนื่องจาก มลภาวะต่าง ๆ แสง UV หรือแม้แต่สภาพดินฟ้าอากาศ ล้วนมีส่วนทำให้หมวกที่ผ่านร้อน ผ่านหนาว มาอย่างยาวนานเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ซึ่งถ้ามัวแต่เหนียมเสียดายเงินที่จะซื้อใหม่ อาจไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะเสียใจก็เป็นได้

แถมท้าย

-สีของหมวกดูเหมือนจะไม่สำคัญ และขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัวของแต่ละบุคคล แต่แนะนำให้เลือก สีโทนสว่าง เข้าไว้ เนื่องจากผู้อื่นจะสามารถมองเห็นได้ง่ายหากขี่จักรยานตอนกลางคืน

-หากหมวกนิรภัยของคุณมี คู่มือการใช้งาน เสียเวลาอ่านสักนิด

-หลีกเลี่ยงการใช้ สารเคมี ในการทำความสะอาดหมวกนิรภัย ควรใช้เพียงผ้านุ่ม ๆ หรือฟองน้ำชุบน้ำสบู่อ่อน ๆ และน้ำเปล่า เช็ดทำความสะอาดก็เพียงพอ

-ไม่เก็บหมวกนิรภัยในห้องใต้หลังคา โรงรถ กระโปรงรถ หรือที่ใดก็ตามที่เป็น แหล่งเก็บสะสมความร้อน เนื่องจากความร้อนที่มากเกินไปจะทำให้เกิดฟองอากาศภายในหมวก

-ตรวจสอบหมวกนิรภัยอยู่เสมอว่ามี รอยแตกร้าว หรือไม่

รักการขี่จักรยาน รักที่จะห่วงใยสิ่งแวดล้อม แล้วก็อย่าลืมรักตัวเองและคิดถึงคนที่คุณรักด้วยนะ ก้นแปะอานครั้งใด อย่าลืมเอาหมวกนิรภัยใส่หัวนะจ๊ะ!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น