วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

หมวกกันน็อคจักรยานที่ดีที่สุด


หมวกกันน็อคจักรยานที่ดีที่สุด ไม่ใช่หมวกที่แอโร่ที่สุด ไม่ใช่หมวกที่เบาที่สุด และไม่ต้องหล่อที่สุด แต่ใส่แล้วสบาย เข้ากับทรงของศีรษะและกระชับที่ที่สุด
การเลือกหมวกก็ต้องไปทำการ"ลอง"สวมใส่และดูว่ามันเข้ากับตัวเราแค่ไหน ไอ้ที่ว่ากันว่าดีนักหนา อาจไม่ได้ดีและเหมาะกับทุกคนเสมอไป หัวใครก็หัวมัน(ตามชื่อบทความ) ต้องได้ลองเองจึงจะรู้ได้ แต่วันนี้ลองมาดูวิธีการเลือกหมวกให้โดนใจกันเป็นทริคเล็กๆซัก 4 ประการ

1.ถูกงบถูกเงิน
จากบทความบทที่หนึ่งและสองจะพบว่าหมวกกันน็อคจัรกยานจริงๆแล้วมีความปลอดภัยไม่ได้แตกต่างกันมากนักหากมีการรับรองสัญลักษณ์มาในระดับเดียวกัน สิ่งที่ต่างก็คือ ความสบายในการใช้งาน ความสบายนี้ก็ประกอบไปด้วยความเบา ความเย็นของรูระบายอากาศ ที่รวมๆกันแล้วยังได้หมวกที่แข็งแรงดีอยู่ แถมด้วยปัจจัยยอดฮิตแห่งยุคก็คือแอโร่ไดนามิคส์ที่ดี ใส่แล้วเร็วขึ้นอีก 30 วินาทีโดยไม่ต้องทำอะไร ทั้งหมดนี้แลกมาด้วยราคาค่าตัวที่แตกต่างกัน อย่าน้อยใจที่ไม่สามารถสอยหมวกสุดหรูดูดีมีชาติตระกูลมาได้ แต่ขอให้ทำการบ้านให้หนักว่าหมวกที่คุณต้องการนั้นมัน"ตอบโจมย์"ที่สุดแล้วหรือยังในงบที่กำเงินไป อย่าลืมมองหาแบรนด์ที่อาจจะไม่ได้คุ้นหู ไม่ได้เป็นที่นิยม อย่ากลัวว่าของมันจะไม่ดี เพราะคุณรู้จักตรารับรองคุณภาพแล้ว

2.รูปทรงเข้ากับกระโหลก
กระโหลกคนเราไม่ได้มรูปร่าง รูปทรงที่เหมือนกันไปเสียหมดทุกคน บางคนหัวแบน บางคนหัวทุย บางคนหัวกลม บางคนหัวรี หมวกก็ไม่ได้ออกแบบมาเหมาะกับทุกรูปทรงหัว นักออกแบบแต่ละค่ายพยายามหาทรงที่เข้าที่เข้าทางเป็นมาตรฐานที่สุด แถมด้วยระบบปรับละเอียดรัดต่างๆแล้วแต่ที่แต่ละยี่ห้อจะชูธงวิธีปรับมาอวดอ้างกัน อย่างไรเสีย หมวกก็ไม่ได้เหมาะกับทุกคนไปเสียหมด สายรัดท้ายทอยหรือการปรับความตึงอาจสามารถรัดหมวกให้พอดีกระชับได้ ทว่าในการรับกับทรงนั้นส่งผลไปถึงการระบายอากาศ และการรองรับการกระแทกอีกด้วย ทางเดินอากาศภายในหมวกอาจไม่สามารถส่งลมผ่านเข้าไปได้ตามที่ออกแบบมาเพราะไม่รับกับทรงหัว หรือช่องว่าที่มีอาจกลายเป็นต้นตอของอาการบาดเจ็บเมื่อเกิดการกระแทกขึ้น ดังนั้นหมวกที่ดีและเหมาะจริงๆคือหมวกที่เมื่อวางลงไปบนศีรษะของคุณ หมวกอยู่ได้พอดี รับกับทรงได้โดยไม่ต้องทำอะไรเลย ในทางกลับกันหมวกที่ไม่เหมาะคือหมวกที่ไม่ว่าจะปรับอย่างไร ทั้งสายรัดคางและระบบปรับความแน่นแล้วก็ยังไม่พอดีเสียที

3.ใส่กระชับมั่นคง
เมื่อทรงของหมวกเป็นที่ต้องกับทรงของกระโหลก ได้เวลาทดลองรัดสายรัดและปรับความแน่นของหมวกได้ดี ตามทฤษฏีนั้น หมวกควรอยู่ได้อย่างมั่นคงไม่คลอนไปมาแม้เพียงการรัดสายรัดคางเบาๆ การรัดสายรัดคางควรปรับความตึงของสายรัดให้แน่นพอดีที่จะสอดน้ำเข้าไปสองนิ้วระหว่างสายรัดกับคางได้ เพื่อให้สามารถก้มและเงยหน้าได้โดยไม่โดนสายรัดบีบ อย่าลืมปรับรอยต่อสายรัดที่ใต้ใบหูให้อยู่ในตำแหน่งที่ไม่ก่อความรำคาญ ท่สำคัญหมวกหลายๆยี่ห้อสามารถปรับสายรัดให้หมวกก้มหรือเงยได้ตามต้องการ จัดให้หมวกอยู๋ในแนวระนายที่ดี ไม่ก้มลงมาจนปิดบังทัศนียภาพ หรือเงยจนเปิดหน้าผากเหม่งเป็นอันตรายเมื่อล้มลงไป สุดท้ายจึงลองหมุนปรับระบปรับละเอียดอีกครั้ง หลายๆคนเข้าใจผิดว่าหมวกอยู่ได้ดีด้วยการหมุนรัดแน่นๆ ซึ่งไม่ดีต่อการระบายอากาศและบีบรัดมากเกินไป หมวกที่ดีอย่างที่อธบิายเอาไว้นั้น เมื่อรดสาย และปรับความตึงพอดี แม้ว่าจะโยกหัวไปมา ส่ายตามเพลงสุดมันส์ก็ยังอยู่คงที่ไม่หล่นเอียงไปเกะกะ

4.หล่อเหลาเข้ากับหน้า
ไหนบทความนี้บอกว่าการเลือกของให้ดูที่ความปลอดภัย การออกแบบ และราคา? แต่ใครจะปฏิเสธได้ครับว่าหมวกที่ทรงภายนอกบานใส่กับคนหน้าเรียว เล็ฏคางแหลมกลายเป็นเห็ดมันช่างดูไม่เหมาะเสียเหลือเกิน หรือพ่อหนุ่มหน้าบาน คางกว้าง แป้นมาแต่ไกลแต่ใส่หมวกหลิมยอดเรียวเล็ก เป็นหัวหอมวางบนเต้าหู้ แบบนีก็ไม่เหมาะ อย่าลืม อย่าลืมนะครับว่าคุณออกไปปั่นจักรยานบนที่สาธารณะ ต่อหน้าผู้คนมากมาย ลองเอากระจกมาส่องดูซักหน่อยว่ามันเข้ากับหน้าตา แว่นกันแดด หรือแม้แต่ชุดปั่นก็ไม่เสียหาย ยิ่งสมัยนี้สาวๆมาปั่นกันเยอะ ตามไสตล์สาวแฟชั่นที่มีรองเท้าสองโหลทั้งๆที่มีเท้าแค่ 2 ข้าง ก็ไม่แปลกเลยที่จะมีหมวก 7-8 ใบทั้งๆที่มีหัวเดียว เพื่อให้เข้ากับชุดที่จะใส่ไปปั่น สุขภาพดี หน้าตาดี อะไรๆก็ดีไปหมด

สุดท้ายขอฝากข้อมูลสำคัญที่หลายๆท่นอาจมองข้าม
จากการออกแบบของหมวกที่อธิบายไปในบทความตอนที่หนึ่ง หมวกที่โครงสร้างเกิดความเสียหายแม้เพียงนิดเดียวอาจเสียคุณสมบัติในการกระจายแรงไปอย่างสิ้นเชิง และแปลว่ามันได้หมดหน้าที่การป้องกันสมองของคุณๆไปเสียแล้ว ดังนั้นหมวกที่ผ่านการล้มมาแล้ว แม้จะไม่แตก ไม่ร้าว ขอให้มันได้กระแทกลงพื้น จงอย่าเสียดายแล้วหาใบใหม่มาใส่เถิดครับ คุณเลือกไม่ได้หรอกว่าคราวหน้าจะเอาหัวส่วนไหนโหม่งพื้น หรือความเสียหายบางอย่างก็มองไม่เห็นจากภายนอก

อีกประการที่สำคัญที่สุด หมวกกันน็อคเหล่านี้มีอายุการใช้งานด้วยนะครับ วัสดุซับแรงเหล่านี้จะเสื่อตัวเองไปเรื่อยๆเมื่อโดนความร้อนเป็นเวลานานๆ แม้ว่าไม่ได้ใช้หรือกระแทกอะไรเลย หมวกยิ่งเก็บไว้นานเท่าไหร่ก็ยิ่งเสื่อมลงไปเรื่ือยๆ แม้ว่าหมวกสมัยใหม่จะมีอายุยาวนานกว่าเมื่อก่อนมากแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงแนะนำให้เปลี่ยนหมวกทุกๆ 10-15 ปี แม้ว่าจะไม่ล้มหรือไม่มีแม้รอยแมวข่วน ลองคำนวนราคาหมวกเผื่อการใช้งานยาวๆเอาไว้ด้วย อย่าคิดว่าซื้อมาใบละหมื่นแล้วมันจะอยู่ไปยันลูกเลื่อ่นตำแหน่งเป็นหัวหน้าสาขาหรือผู็อำนวยการ ไม่มีอะไรที่พ้นอนิจจังไปได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น