ในการขับรถยนต์ตัวแปรในการทำความเร็วก็คือรอบเครื่องยนต์และเกียร์ที่ใช้ ในการขี่จักรยานก็เช่นเดียวกัน ตัวแปรความเร็วของการขี่จักรยานคือรอบขาและเกียร์ที่ใช้ ซึ่งก็เหมือนกันกับตัวแปรความเร็วของรถยนต์ ปกติเวลาเรานั่งปั่นจักรยานบนเบาะ ร่างกายเราจะสัมผัสกับจักรยาน 5 จุด ได้แก่ ขาทั้งสองข้างที่เหยียบบันได มือทั้งสองข้างที่จับแฮนด์ และก้นที่นั่งบนเบาะนั่นคือสภาวะปกติ เมื่อเรานั่งปั่น แต่ก็ยังมีสภาวะพิเศษที่เราต้องการเร่งความเร็วแบบทันทีทันใด หรือต้องการเพิ่มพลังในการขับเคลื่อนให้มีเพิ่มขึ้นแบบทันทีทันใด เราสามารถทำได้โดยการใช้น้ำหนักทั้งหมดของตัวกดบันไดด้วยการยืนปั่น
เวลาที่เรานั่งปั่นบนเบาะ น้ำหนักตัวส่วนหนึ่งจะกดที่เบาะแล้วส่วนหนึ่งกดไปที่บันได แต่ถ้าเรายืนปั่นโดยยกก้นขึ้นจากการนั่งบนเบาะ น้ำหนักตัวเกือบทั้งหมดจะกดบันได ซึ่งการยืนปั่นแบบนี้จะให้แรงในการขี่สูง แต่ก็เป็นท่าขี่ที่เหนื่อยมากที่สุดเหมือนกัน เพราะกล้ามเนื้อขาต้องทำงานอย่างเต็มที่ ประโยชน์ของการยืนปั่นจะมีอยู่สองอย่างคือ อย่างแรกใข้ในการเร่งความเร็วเช่นกรณีแซงหรือแข่งกันขี่เข้าเส้นชัย อย่างที่สองเป็นการเพิ่มพลังในการขับเคลื่อนให้มีสูงสุดเมื่อต้องการใช้งาน ส่วนในการฝึกซ้อมการยืนปั่นยังเป็นการวัดความอดทนของร่างกายว่าจะสามารถทนสภาวะทำงานหนัก ๆ ได้นานแค่ไหนอีกด้วย เรียกได้ว่าถ้าฝึกยืนปั่นอยู่บ่อย ๆ ก็จะเป็นหนทางในการฝึกฝนความแข็งแรงในกล้ามเนื้ออย่างหนึ่ง พื้นฐานของการยืนปั่นมีอยู่สองอย่างคือ การทรงตัวบนจักรยานโดยไม่นั่งบนเบาะและการรู้จักใช้เกียร์ จากที่เคยกล่าวไว้ว่าการยืนปั่นเป็นการใช้พลังงานสูงสุด ช่วยให้การขี่มีอัตราเร่งดี ดังนั้นก่อนที่จะทำการขึ้นยืนปั่นผู้ขี่จะต้องเปลี่ยนเกียร์ไปอยู่ที่ตำแหน่งเกียร์ที่หนักกว่า (มีอัตราการทดมากกว่า) เกียร์ปัจจุบันนิดหน่อย เพราะว่าการยืนปั่นเป็นการใช้พลังงานสูงสุด หากไม่มีการเปลี่ยนไปใช้เกียร์ที่มีอัตราการทดที่มากกว่า ก็จะทำให้การเร่งของรถไม่สูงเท่าที่ควร กล่าวคือรถพุ่งตัวเร็วขึ้นนิดเดียวแล้วความเร็วก็หยุด ทำให้ความเร็วที่เพิ่มขึ้นไม่พอที่จะแซงให้พ้น หรือผู้ขี่อาจจะฟรีขาทิ้งเปล่า ซึ่งกรณีที่เปลี่ยนเกียร์หนักก่อนยืนปั่นนี้จะให้ในการเร่งความเร็ว ส่วนในกรณีที่ต้องการใช้พลังงานสุงสุดในการขับเคลื่อนแบบทันทีทันใด เช่นกรณีขี่ขึ้นจากท้องร่องนั้น สามารถยืนขี่ได้เลยโดยไม่ต้องเปลี่ยนเกียร์ก่อนยืนปั่น [เทคนิคการปั่นจักรยาน] ส่วนพื้นฐานการทรงตัวบนจักรยานโดยไม่นั่งบนเบาะ ท่านสามารถฝึกด้วยตัวเองได้โดยการขี่รถด้วยความเร็วระดับหนึ่งแล้วปล่อยให้รถไหลจากนั้นให้จัดตำแหน่งบันไดจักรยานให้ขนานพื้นให้เท้าด้านที่ถนัดอยู่ข้างหลัง จากนั้นจึงค่อย ๆ เหยียบบันไดทั้งสองข้าง ยกก้นขึ้นมาเหนือเบาจนขาทั้งสองข้างตึง แล้วทรงตัวบนรถปล่อยให้รถไหลไปเรื่อย ๆ จนแรงส่งใกล้จะหมดจึงนั่งลงปั่นต่อ ฝึกยืนยกก้นบนบันไดในตำแหน่งบันไดขนานพื้นจนคล่องก่อน จากนั้นก็มาฝึกขั้นต่อไปก็คือการยืนปั่นพร้อมกับโยกรถไปพร้อมกัน ซึ่งการฝึกขั้นนี้ก็มีพื้นฐานมาจากการฝึกในขั้นที่แล้ว กล่าวคือต้องทำการขี่แล้วยืนบนบันไดให้รถไหลไปก่อน จากนั้นจึงทำการยืนปั่นโดยเวลาที่กดขาซ้ายลงก็ให้ใช้แขนดึงตัวรถไปด้านขวา ส่วนเวลาที่กดขาขวาลงก็ให้ใช้แขนดึงตัวรถไปด้านซ้าย ซึ่งขาที่ปั่นกับทิศทางการดึงตัวรถจะตรงกันข้ามอยู่เสมอ กล่าวคือใช้ขาซ้ายปั่นก็จะต้องดึงตัวรถไปด้านขวา และเวลาใช้ขาขวาปั่นก็จะต้องดึงตัวรถไปด้านซ้าย เหตุที่ต้องทำแบบนี้ก็เพื่อรักษาสมดุลการทรงตัวของรถไม่ให้รถล้ม [เทคนิคการปั่นจักรยาน] เวลาทำการฝึกให้ทำการฝึกทั้งการยืนบนรถโดยให้บันไดขนานพื้นก่อนแล้วจึงฝึกยืนปั่นตามทีหลัง ฝึกบ่อย ๆ จนคล่อง แค่นี้คุณก็จะได้รู้วิธีขี่แบบเร่งแซงให้พ้น หรือการขี่ขึ้นจากท้องร่องได้ครับเทคนิคการยืนปั่นยังเป็นเทคนิคพื้นฐานที่ถูกนำไปใช้ในการแข่งขันเสือหมอบอยู่บ่อย ๆ เวลาที่นักแข่งขี่เร่งเข้าเส้นชัย ซึ่งก็มีพื้นฐานมาจากการฝึกแบบนี้ก่อนที่จะไปฝึกเทคนิคขั้นสูงต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น