วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ข้อแนะนำสำหรับนักปั่นจักรยานหน้าใหม่

ข้อแนะนำสำหรับนักปั่นจักรยานหน้าใหม่

รถจักรยานเป็นประดิษฐ์กรรมชิ้นหนึ่งที่มนุษย์ประดิษฐขึ้นมาเพื่อใช้เป็นยานพาหนะเมื่อนานมาแล้ว และยังใช้ได้ดีอยู่ตามวัตถุประสงค์เดิม ปัจจุบันในหลายประเทศทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาต่างก็ใช้จักรยานเพื่อกิจการที่มีอยู่ปกติประจำวันซึ่งสามารถแก้ปัญหาในการเดินทางได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังได้ผลประโยชน์อย่างอื่นๆที่ติดตามมา คือ การประหยัดพลังงาน การไม่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหายและได้สุขภาพร่างกายกายที่แข็งแรง เป็นต้น การใช้จักรยานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะต้องรู้จักส่วนต่างๆ ของจักรยาน รู้วิธีการบังคับอย่างถูกต้อง รู้วิธีการปรับส่วนต่างๆ ของจักรยานนั้นให้มีความเหมาะสมกับผู้ถีบ ต้องมีการดูแลรักษา และทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ

1. การดูแลรักษาและทำความสะอาด การดูแลรักษาส่วนประกอบต่างๆ ของรถจักรยานให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์และหมั่นทำความสะอาดเพื่อขจัดสิ่งสกปรกต่างๆ นอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการขี่แล้วยังทำให้อายุการใช้ยาวนานขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะส่วนของโซ่ ควรหมั่นดูแลทำความสะอาดให้มากและบ่อยเป็นพิเศษ เพราะว่าโซ่เป็นส่วนสำคัญที่ทำหน้าที่ถ่ายแรงถีบ ถ้าโซ่ไม่สะอาดจะมีผลทำให้ประสิทธิภาพการถีบลดลง น้ำ และ แชมพู หรือผลซักฟอก เป็นสิ่งที่ใช้ทำความสะอาดดีที่สุด แต่ในส่วนที่เป็นโซ่อาจจำเป็นต้องใช้น้ำมันก๊าดหรือน้ำมันโซล่าหรือน้ำมันเบนซินช่วยกำจัดคราบเหนียวที่ติดอยู่ หลังจากนั้นล้างด้วยน้ำแล้วเช็ดให้แห้ง หรือนำรถตั้งไว้กลางแดดสักระยะหนึ่ง เมื่อโซ่แห้งดีแล้วควรฉีดพ่นโซ่นั้นด้วยน้ำมันหล่อลื่นที่สำหรับใช้กับโซ่โดยเฉพาะ เช่น WD-40 สายเบรค และสายเกียร์ก็ควรหมั่นตรวจสอบและทำความสะอาด เพราะส่วนนี้จะเกิดสนิมได้ง่าย

2. การปฏิบัติก่อนและหลังการถีบจักรยาน (ทางไกล)ควรยืดเส้นยืดสายบริหารร่างกายก่อนและหลังการขับขี่ จะทำให้กล้ามเนื้อไม่ปวดเมื่อย ลดการบาดเจ็บ ขับขี่ได้ทนนาน ข้อแนะนำท่ายืนตรงก้มลง ปล่อยมือ 2 ข้างสบายๆ ค้างไว้ 30 วินาที อาจไขว้เท้าสลับข้างกัน ข้างละ 30 วินาที พร้อมกับก้มลงก็ได้ เป็นการยืดกล้ามเนื้อด้านหลัง ท่าที่สองยืนตรงเท้าชิดกัน งอขาขวามาทางด้านหลัง ใช้มือขวาจับข้อเท้าค้างไว้ หน้าขาขวาตรง ตั้งฉากกับพื้นค้างไว้ 30 วินาที แล้วเปลี่ยนทำข้างซ้ายเช่นกัน ท่าที่ 3 นั่งยอง ๆ บนซ้นเท้า แล้วเหยียดขาไปทางด้านข้างให้สุดเท้า ตัวตรง ค้างไว้ 30 วินาที แล้วสลับเหยียดขาอีกข้าง เป็นการยืดกล้ามเนื้อด้านในหน้าขา ควรบริหารส่วนอื่นด้วยเช่นกัน หรือหากมีโอกาสมีเวลาก็ยกน้ำหนักเบาๆ บริหารร่างการเพิ่มกล้ามเนื้อยิ่งดี

3. เทคนิคเบื้องต้นของการถีบจักรยาน
3.1 การปรับอานนั่ง
1) การปรับความสูงของอาน ความสูงของอานมีส่วนสำคัญสำหรับความสบาย ปลอดภัยและประสิทธิภาพในการถีบ อานนั่งของรถจักรยานทุกรุ่นสามารถปรับให้สูงขึ้นหรือต่ำลงได้ระดับหนึ่ง การปรับอานนั่งให้ต่ำจนทำให้หัวเข้างอดูเหมือนว่าจะทำให้ถีบสบายแต่ถ้าถีบเป็นระยะทางไกลแล้วจะทำให้ปวดเมื่อยหัวเข่าและสะโพกได้ง่ายในทางตรงกันข้ามถ้าปรับอานให้สูงเกินไปจนทำให้ขาต้องเหยียดตรงในขณะถีบก็ไม่เป็นผลดีต่อหัวเข้าเช่นกัน เพราะจะมีผลทำให้หัวเข่าเกิดอาการเจ็บได้ ความสูงของอานที่เหมาะสมคือขณะถีบขาที่อยู่ด้านบันใดต่ำสุดควรเกือบเหยียดตรงเท่านั้น (หัวเข่างอเล็กน้อย) วิธีการตรวจวัดความสูงของอานอย่างง่าย ๆ ก็คือ นั่งคล่อมบนอานแล้วใช้ซ้นเท้าวางลงตรงกลางของบันใดข้างที่อยู่ตำแหน่งต่ำสุดและทำให้ขาเหยียดตรงพอดี แต่ในขณะที่ถีบจะทำให้หัวเข่างอเล็กน้อยเพราะการถีบบันใดจะใช้ส่วนปลายเท้า
2) การปรับระดับ อานนั่งของรถจักรยานรุ่นใหม่ๆ สามารถปรับให้ลาดเทลง หรือเงยขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตามการปรับให้อยู่ในแนวระนาบ (ขนานกับฟื้น) จะทำให้การขี่รู้สึกสบายที่สุด แต่ถ้ารู้สึกว่าไม่สบายหรือทำให้คล้ายเป็นเหน็บหรือเจ็บส่วนที่สัมผัสหรือนั่งบนอานอยู่โดยเฉพาะเมื่อขี่เป็นเวลานานๆ ก็ควรปรับมุมของอานให้ลาดเทหรือคว่ำหน้าลงอีกเล็กน้อยก็จะช่วยได้ หรือไม่ก็เปลี่ยนใช้อานที่นุ่มขึ้น การปรับอานนั่งให้คว่ำมากอาจส่งผลให้ข้อมือเกิดเจ็บขึ้นได้เพราะน้ำหนักของตัวขณะขี่จะถ่ายลงแขนและข้อมือมากขึ้น

4. การใช้เกียร์
1) การเปลี่ยนเกียร์ เปลี่ยนเมื่อบันไดและโซ่เคลื่อนไปด้านหน้าเท่านั้น ห้ามเปลี่ยนตอนหยุดหรือปั่นถอยหลัง หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนเกียร์ขณะขับขี่บนทางขรุขระ หรือชันมาก โซ่อาจเข้าไปตรงเกียร์เข้ายากหรือโซ่ตกง่าย
2) การเปลี่ยนเกียร์แบบกด (แรปปิดดไฟร์) ก่อนเปลี่ยนให้ปั่นช้าลง แล้วกดปุ่มเปลี่ยนเกียร์ให้ดังคลิ๊ก แช่ไว้สักครู่ (1-2 วินาที) จนโซ่เข้าเฟืองหรือจานแล้วจึงค่อยปล่อยนิ้วที่กด
3) เกียร์ต้องห้าม คือจานหน้าใหญ่สุดกับเฟืองหลังใหญ่สุด จานหน้าเล็กสุดกับเฟืองหลังเล็กสุด

5. การใช้เบรคและการจับแฮนด์
1) เมื่อใชเบรคหยุดรถ ควรใช้เบรคทั้ง 2 ข้างพร้อมๆ กัน ไม่ใช้ข้างใดข้างหนึ่ง โดยเฉพาะเบรคหน้า ถ้าบีบแน่นจนเบรคล๊อดล้อ อาจเกิดอุบัติเหตุได้
2) การจับแฮนด์เพื่อไม่ให้หลุดมือง่าย เมื่อล้อสะเทือน กระแทก โดยไม่รู้ตัว รถล้มเพราะเสียหลัก ให้ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้กำรอบแฮนด์ ส่วนนิ้วที่เหลือควบคุมก้านเบรคหรือมือเบรค หัดให้เป็นนิสัย ใช้ 2 มือควบคุมรถ ไม่ปล่อยมือข้างใดข้างหนึ่งหรือ 2 ข้าง ไม่ว่ากรณีใดๆ อาจเกิดอุบัติเหตุได้

6. การถีบจักรยานขึ้นเขาลงเขา เมื่อหัดขับขี่ทางราบจนคุ้นเคย ชำนาญ ในการใช้เกียร์และควบคุมรถได้ดี สภาพร่างกายแข็งแรงดีขึ้น อาจทดลองมาขี่ขึ้นเนินชันหรือขึ้นเขาบ้างก็จะได้รับสัมผัสกับธรรมชาติที่ดีขึ้น เพราะบนเขามลภาวะทางอากาศทางเสียงน้อย อากาศบริสุทธิ์มาก ขับขี่จะให้ความทนทานของปอด หัวใจ กล้ามเนื้อได้มากกว่า ได้รับความเบาสบายสนุกสนานขณะลงเขาอีกด้วย
1) ก่อนขี่ขึ้นเขาควรตรวจเช็ดสภาพเบรค เกียร์ และอื่นๆ ให้ดีจนแน่ใจ เพราะอันตรายจากการลงเขามีมาก
2) วิธีขี่ขึ้นภูเขาใช้เกียร์ให้เบา คือจานหน้าเล็กสุด ฟรีหลังใหญ่สุดหรือรองลงมาพยายามปั่นเกียร์เบาออกแรงน้อย ไม่ต้องให้รถเคลื่อนเร็ว ค่อย ๆ ปั่นขึ้นช้าๆ แต่มั่นคงไม่หยุด ทำใจเย็น ๆ สบายๆ หายใจลึกๆ หายใจเข้าทางจมูกออกทางปาก ถ้าเหนื่อยมองทางข้างหน้าใกล้ๆไว้อย่างมองทางชันไกลๆ ข้างหน้า จิตใจจะท้อหมดกำลังใจได้ง่าย ก่อนหมดแรง จริงๆ จิบน้ำบ่อยๆ ก่อนกระหายมาก ถ้าท้อ อาจสวนมนต์คาถาสั้นๆ ก็ได้มีหลายท่านทำ
3) การปั่นลงเขา ให้วางเท้าทั้งสองข้างบนบันไดขนานกับพื้น เปลี่ยนเกียร์มาที่เฟืองหน้าใหญ่สุด เฟืองฟรีหลังเล็กสุด ตั้งสติให้ดีอย่างตกใจง่าย เบรคควบคุมความเร็ว ลดความเร็วก่อนเลี้ยวโค้ง โดยบีบมือเบรคทั้ง 2 ข้าง ขณะอยู่ทางตรง โดยบีบปล่อยๆ ไม่บีบแซ่ไว้ ความเร็วขณะเข้าโค้งไม่ควรเกิน 40 กม./ชม. ไม่เบรคขณะรถอยู่โค้ง อาจลื่นไถลได้ง่าย ถ้าจำเป็นควรเบรคเบาๆ โปรดจำไว้ว่าอันตรายจากการลงเขามีมาก ให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ ปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่า ถึงช้าแต่ปลอดภัยดีที่สุด ไม่ควรเร่งลงเขาให้ทันเพื่อนข้างหน้า หรือกังวลห่วงคนข้างหลัง จงควบคุมรถของเราให้ดีๆ ก่อน เตือนกันก่อนขี่ขณะขี่ต่างคนค่างควบคุมตนเอง ไม่มีใครช่วยกันได้ตอนขับขี่

7. การถ่ายน้ำหนักตัว ในการขี่ขึ้นเขาหรือที่ชันโดยเฉพาะถนนแบบออฟโรดควรถ่ายเทน้ำหนักตัวมาทางล้อหน้าให้มากขึ้นโดยการเลื่อนการนั่งมาทางด้านหน้าของอานให้มากขึ้น เพราะจะช่วยให้ล้อหน้าเกาะถนนดีขึ้น แต่ถ้ามากเกินไปจะทำให้ล้อหลังหมุนฟรีได้ แต่ถ้าถ่ายเทน้ำหนักมาทางล้อหลังมากก็จะทำให้ล้อหน้ายกลอยขึ้นได้ ในขณะที่กำลังขี่ถ้าแขนเหยียดตรงจะมีแรงดึงที่มือทำให้ล้อหน้ายกลอยขึ้นได้ ดังนั้นควรงอศอกลงเล็กน้อยในขณะที่ขี่ขึ้นที่ชันมาก

8. การขี่เข้าโค้ง การขี่เข้าโค้งในขณะที่มีความเร็วสูงโดยเฉพาะตอนลงเขา จงใช้การเลี้ยวด้วยวิธีเอียงตัว หรือถ่ายเทน้ำหนักตัวแทนที่จะใช้การหมุนแฮนด์ หรือบังคับด้วยแฮนด์โดยค่อยๆ เอียงตัวพร้อมรถอย่างนุ่มนวล บันไดที่อยู่ด้านในของโค้ง (ด้านเอียง) ควรอยู่ที่ตำแหน่งสูงสุด เพื่อป้องกันมิให้บันไดถูหรือกระแทกกับพื้นถนน หัวเข่าข้างที่อยู่ในโค้งควรชี้ไปที่โค้งในขณะเดียวกันก็กดน้ำหนักลงที่บันไดอีกข้างหนึ่ง (ด้านนอกโค้ง) ให้มากเข้าไว้

9. การดื่มและกินสำหรับการถีบจักรยาน (ทางไกล)
9.1 การดื่มน้ำ ก่อนการถีบจักรยานทางไกลควรดื่มน้ำประมาณ 2 แก้ว หรือ 1 ขวดเล็ก 1 ชั่วโมงก่อนออกเดินทาง จากนั้นในระหว่างการขี่ควรจิบน้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไปกับเหงื่อ อย่าปล่อยให้จนกระทั่งกระหายน้ำจึงดื่มน้ำ หรือถ้าไม่ถนัดการจิบน้ำในระหว่างการขี่ก็อาจจะหยุดเพื่อดื่มน้ำในปริมาณที่สูญเสียไปกับเหงื่อหลังจากที่ได้ขี่ไปแล้วประมาณ1 ชั่วโมง
9.2 การกินของว่าง การถีบจักรยานทางไกล การกินของว่างที่มีธาตุอาหารก่อนเริ่มการขี่และในระหว่างการขี่เป็นสิ่งจำเป็นไม่ควรรอให้รู้สึกหิวถึงจะกินโดยทั่วไปแล้วเมื่อขี่ได้ประมาณ 1 ชั่วโมงก็ควรมีการพักและกินของว่างเสริมพลังงาน กล้วยตากนับว่าเป็นของว่างที่ดี พวกฝรั่งมี Power bars แต่ไทยเราก็มี Power bars ที่มีคุณค่าคือ กล้ายตาก

10. หลักปฏิบัติในการขี่จักรยานระยะไกล
1) ดื่มก่อนกระหาย
2) กินก่อนหิว
3)พักผ่อนก่อนที่จะเหนื่อย
4) เปลี่ยนเกียร์ก่อนที่จะต้องการใช้เสมอ

11. กฎกติกาการขี่จักรยาน
1) ต้องขับขี่ตามระบบการจราจร
2) ต้องปฏิบัติตามป้ายห้ามต่างๆ สัญญาณไฟและกฎจราจร
3) ให้สัญญาณทุกครั้งที่มีการเลี้ยวหรือเปลี่ยนเส้นทาง การเลี้ยวต้องอยู่ในช่องทางที่ถูกต้องเสมอ
4) ขับขี่อย่างปลอดภัยคือขับขี่โดยตรงแนวเส้นทางที่ตรงไปของถนนและขับขี่โดยให้ผู้ใช้เส้นทางร่วมกันด้วยยานพาหนะชนิดอื่นรู้ได้ว่าจะขับขี่ไปในทิศทางใด
5) ต้องขับขี่ในลักษณะที่เตรียมพร้อมที่จะหนีจากอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้
6) อย่าขับขี่เคียงคู่กันไปในเส้นทางของการจราจร

12. สำหรับการขี่ไปในเส้นทางที่ไม่ใช่ถนนปกติ
1) ขับขี่ไปตามเส้นทางที่ปรากฎให้เห็นได้เท่านั้น
2) หยุดให้คนเดินเท้าและสัตว์เลี้ยงชนิดต่างๆที่ใช้เส้นทางร่วมกันไปก่อนเสมอหรือให้ใช้เส้นทางสะดวก
3) ต้องขับขี่โดยไม่ทำความเสียหายใดๆ แก่เส้นทางหรือสิ่งที่มีอยู่ในเส้นทาง แต่ถ้าหลีกเลี่ยงการทำความเสียหายไม่ได้ก็ต้องให้มีความเสียหายเกิดขึ้นน้อยที่สุด การขับขี่ในเวลากลางคืนอย่าลืมที่จะต้องจัดให้มีวัสดุสะท้อนแสงและไฟส่องสว่างที่ถูกต้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น