วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2558

เสือภูเขา Mountain Bike คุณรู้จักมันดีแค่ไหน

เมื่อเห็นจักรยานยางใหญ่ ๆ ดอกหนา ๆ มีช็อคหน้าและหลังเรามักจะเรียกมันว่า “เมาเท่นไบค์” หรือ “เสือภูเขา” ไว้ก่อน โดยแทบไม่สนใจเลยว่ามันเป็นเมาเท่นไบค์จริง ๆ ตามความต้องการของผู้ผลิตหรือไม่ และจักรยานที่ถูกเรียกว่าเมาเท่นไบค์นั้นก็ถูกแบ่งแยกอกไปได้อีกหลายประเภทย่อย ๆ ไม่ได้มีแค่แบบมีตะเกียบช็อคอันเดียวคือฮาร์ดเทลและฟูลซัสเพนชั่นซึ่งมีช็อคหน้า – หลัง แต่มันถูกแบ่งประเภทตามวิธีการใช้งานได้ถึง 6 ประเภท และน่าจะมีแค่ 6 ประเภทนี้ไปอีกนานตราบเท่าที่มนุษย์ยังนึกไม่ออกว่าจะสร้างเมาเท่นไบค์ประเภทไหนขึ้นมาอีก ลองมาดูกันว่าตัวเองขี่เมาเท่นไบค์ประเภทไหนอยู่ หรือไม่แน่จักรยานที่คุณขี่อาจจะไม่ใช่เมาเท่นไบค์เลยก็ได้ ถึงแม้ว่ามันจะยางใหญ่ก็ตาม


Cross country
วัตถุประสงค์ : จักรยานแข่งวิบากหรือ “ครอส คันทรี่” นี้จุดเด่นคือต้องน้ำหนักเบา มีตะเกียบช็อคหน้าเพียงคู่เดียวหรือมีช็อคกันสะเทือนหน้าหลังก็ได้ ช่วงชักของช็อคที่กำหนดไว้ให้จักรยานแบบนี้คือ 4 นิ้ว หรือน้อยกว่านั้นเนื่องจากไม่ได้รับแรงกระทบกระแทกหนักหนาสาหัส เมื่อจักรยานครอส คันทรี่ไม่ได้ถูกขี่ลุยทางวิบากยาว ๆ ที่ไม่ได้เตรียมการไว้ก่อน (trail) ซึ่งเทรลไบค์เข้ามารับช่วงไป นักออกแบบจักรยานจึงสร้างมันให้ตรงกับงานเฉพาะกิจมากขึ้น

ครอส คันทรี่ถูกสร้างให้เบา ไต่ที่สูงได้ง่าย นักจักรยานที่มีประสบการณ์จะใช้มันขี่ในลู่แข่งที่ถูกเตรียมสภาพเอาไว้แล้ว ขี่บนถนนดินและเส้นทางที่ไม่โหดเกินไป น้ำหนักของจักรยานประเภทนี้คือเรื่องใหญ่ ดังนั้น ครอส คันทรี่เก่ง ๆ จึงตองมั่นใจในความเบาของตัวรถ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคอยระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดจากการใช้งานด้วย เช่นกระโจนสูงเกิน ลงพื้นกระแทกจนชิ้นส่วนทนไม่ไหว การปรนนิบัติดูแลเป็นประจำไม่ใช่คำแนะนำ แต่เป็นข้อต้องปฏิบัติกันเลยทีเดียวสำหรับ ครอส คันทรี่

น้ำหนัก : ตั้งแต่ 8.50 – 11.25 ก.ก.

ระดับความโหดที่รับได้ : ทำบันนี่ฮ็อปข้ามสิ่งกีดขวางในเส้นทาง เหินได้ระดับเตี้ย ๆ สู้กับทางโหดได้พอประมาณ ไม่ใช่ลุยดงหินกันตลอดเส้นทางหรือมีเนินให้โดดบ่อย ๆ
สิ่งที่มันไม่ใช่ : ความสบายและความทนทาน ล้มเมื่อไรโอกาสพังย่อมสูง จะขี่แบบโหดมาก ๆ ก็รับไม่ไหวอีก

Jump
วัตถุประสงค์ : “จัมพ์” ชื่อบอกอยู่แล้วว่าใช้โดด มันจึงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนอากาศ จะใช้เพื่อเดินทางไปไหน ๆ ทุกวันหรือเอาไปขี่ในเส้นทางวิบากที่ไม่ได้เตรียมการไว้ก็ได้ แต่มันถูกสร้างมาให้เหินจากเนินส่งหรือจะเอาไปตีลังกากลางหาวในสเก็ตพาร์คก็ยังได้ ดูจากสภาพแล้วคงเข้าใจว่าไม่ใช่จักรยานที่สร้างมาให้ขี่นาน ๆ น้ำหนักเบา ๆ จึงไม่เน้นแต่เน้นที่ความทนทาน เกือบทั้งหมดเลยคือฮาร์เทลเฟรมอลูมินั่นและโคร-โมลี เสริมตรงจุดนั้นจุดนี้มากมาย มีระยะห่างมากสำหรับยางหน้ากว้าง ๆ อานค่อนข้างต่ำเพื่อให้คนขี่โยกตัวถ่ายน้ำหนักซ้ายขวาหน้าหลังได้ง่ายเมื่อเหิน เล่นท่าได้สวย ส่วนใหญ่อีกเช่นกันที่ราคาของมันสูง คุณคงไว้ใจอุปกรณ์ราคาถูกไม่ได้เพราะมันคงทนแรงกระแทกจากการกระโดยไม่ไหว

น้ำหนัก : ตั้งแต่ 13.50 -18 ก.ก.

ระดับความโหดที่รับได้ : อะไรก็ได้ที่คนขี่ทนได้ จักรยานทนได้เหมือนกัน ผู้ผลิตจักรยานโดดแทบทั้งหมดไม่ยอมรับประกันชิ้นส่วนของมันนานเพราะธรรมชาติการใช้งานอันสุดโหดของมันนั่นเอง
สิ่งที่มันไม่ใช่: ความสะดวกสบายสำหรับการขี่ในเส้นทางวิบาก และการโดดสูง ๆ โหด ๆ ตลอดเส้นทางแบบดาวน์ฮิลล์

Slalom / 4X
วัตถุประสงค์: มันถูกสร้างให้นักแข่งสองคนแข่งกันลงเนินมาตามช่องทางไม้ปัก (gate) ต้องสาดโค้งตรงดินถม (Berm) ต้องเปลี่ยนทิศทางได้รวดเร็ว เฟรมต้องแข็งเพื่อการสปรินต์ด้วยความเร็วสูง อุปกรณ์ก็ต้องทนไปตามกันแต่ไม่เน้นที่น้ำหนักน้อย ๆ ใช้วัสดุสร้างเฟรมได้ทั้งอลูมินั่มและเหล็กกล้า ต้องเป็นแบบอาร์เทลและมีช่วงชักของข็อค 4 นิ้วหรือน้อยกว่า มันต้องถูกนักแข่งสปรินต์เร่งฝีเท้าสาดโค้งหรือบางครั้งก็ต้องโดดช่วงสั้น ๆ ตลอดเส้นทาง อานจึงสูงพอประมาณ ระดับอานสูงกว่าจักรยานโดด แต่ไม่สูงเท่ากับครอส คันทรี่เพราะต้องการศูนย์ถ่วงต่ำเวลาเข้าโค้งและโดด พวกนักแข่งเก่ง ๆ อาจจะใช้อุปกรณ์เบา ๆ ได้แต่ก็ต้องมีช่างคอยอยู่ปลายทางเพราะมันอาจพังพร้อมกับการแข่งเสร็จ

น้ำหนัก : 12 – 14 ก.ม.

ระดับความโหดที่รับได้ : อะไรก็ตามที่มีในสนามที่ถูกเตรียมการเอาไว้แล้วเช่นในสนามสลาลอม พร้อมตารางเวลาการดูแลเฟรมและอุปกรณ์สม่ำเสมอ
สิ่งที่มันไม่ใช่ : การขี่อย่างดาวน์ฮิลล์ที่บินสูง กระแทกหนัก หักกระจาย โดดแบบจักรยานโดด และไม่น่าจะมีอายุการใช้งานนานกว่า 2 ปี


Trail Rider
วัตถุประสงค์ : จักรยานประเภทนี้ถูกสร้างมาเพื่อลุยทางวิบากโดยเฉพาะ เป็นจักรยานในดวงใจของใคร ๆ หลาย ๆ คนเพราะซื้อมาแล้วคุ้ม จักรยานเทรลมีแบบเดียวเท่านั้นคือ ฟูลซัสเพนชั่นมีช็อคหน้า-หลัง ช่วงชักมากกว่าครอส คันทรี่ 2 นิ้ว คือ 6 นิ้ว เพื่อให้รองรับสภาพเส้นทางที่วิบากเองโดยธรรมชาติ (ย่อมโหดกว่าที่มนุษย์ทำ) บางครั้งเทรลไบค์อาจมีฮาร์ดเทลเข้ามาปะปนแต่นั่นไม่ใช่คำตอบแท้ ๆ ของเส้นทางวิบาก ความสามารถในการไต่และอัตราเร่งช่วงทางเรียบคือกุญแจสำคัญของเทรลไบค์ แต่คนขี่ยังต้องบังคับทิศทางจักรยานอยู่ได้อย่างคล่องแคล่วไม่เสียการทรงตัว เพราะสภาพจักรยานที่รองรับภารกิจวิบากปานกลางได้กว้าง บริษัทผลิตจักรยานจึงนิยมผลิตรถชนิดนี้ออกมามาก มันไม่ต้องเบามากแต่ต้องทนและทรงตัวดี ทุกเส้นทาง ระบบกันสะเทือนต้องดี ทน เกาะเส้นทางพอประมาณ เทรบไบค์แพงที่สุดใช้เฟรมสร้างจากคาร์บอนไฟเบอร์ ในขณะที่อลูมินั่มยังคงเป็นวัสดุยอดนิยม

น้ำหนัก : 11 – 14.50 ก.ก.

ระดับความโหดที่รับได้ : การขี่แบบลุยแหลกพอประมาณ เช่นการโดดจากเนินลงเนินรองรับและทิ้งดิ่งได้ไม่เกิน 3 ฟุต มันสามารถลุยได้สบาย ๆ แบบครอส คันทรี่ ทะยานด้วยความเร็วสูงได้ในพื้นที่ดงหินก้อนเตี้ย ๆ ตะปุ่มตะป่ำแบบที่ครอส คันทรี่รับไม่ไหวแต่มันเอาอยู่เพราะช่วงชักของช็อคยาวกว่า
สิ่งที่มันไม่ใช่ : ขี่โดดตลอดทางแบบดาวน์ฮิลล์หรือวิบากสุดขั้วแบบแบล็คไดมอนด์ การขี่โดดตลอดเวลาหรือสตั้นต์ในสเกตพาร์ค

Black Diamond
วัตถุประสงค์ : ถ้าคุณอยากจะทดสอบความสามารถของตัวเองล่ะก็ใช่เลย แบล็คไดมอนด์เกิดมาเพื่อภารกิจนี้โดยเฉพาะ ชื่อแบล็คไดมอนด์นี้กำเนิดจากเส้นทางที่ถูกกำหนดไว้ในรีสอร์ทหลาย ๆ ที่ เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกไว้ว่าต้องมือโปรเท่านั้นจึงจะผ่านเส้นทางโหดขนาดนี้ไปได้แบบครบสามสิบสอง

เมื่อเน้นให้รับมือกับเส้นทางสุดโหดมันจึงไม่เน้นเรื่องน้ำหนัก จักรยานแบล็คไดมอนด็สามารถเป็นได้ทั้งฮาร์ดเทล น้ำหนักมากถึง 13.50 ก.ก. ใช้เฟรมเสริมความแข็งแกร่งตลอดทั้งคันและช็อคช่วงชักยาว ที่นิยมที่สุดคือช่วงชักยาว 6 – 8 นิ้ว แลกกับน้ำหนักอีกเล็กน้อยที่อาจจะทำให้ปั่นทางเรียบได้ช้าลง แต่มันจะช่วยให้คุณมั่นใจยิ่งขึ้นตลอดเส้นทางวิบากสาหัส ไม่ต้องกลัวเฟรมร้าวหรืออุปกรณ์พังจากการกระแทก ต้องมีดุมธรู-แอ็กเชียลร้อยแกนใหญ่ ล้อทั้งหน้าและหลังต้องใช้ดิสก์เบรกใหญ่เพื่อหยุดได้มั่นใจไม่ว่าจะย่านความเร็วไหนก็ตาม

น้ำหนัก : 16 – 20 ก.ก.

ระดับความโหดที่รับได้ : อะไรก็ตามที่ตัวนักจักรยานทนได้ มันก็ทนได้เหมือนกัน เมาเท่นไบค์แบบแบล็คไดมอนด์ โคตรทนและแข็งแกร่งสุด ๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันจะไม่พัง ถ้าขี่กันแบบไม่บันยะบันยังของทนแค่ไหนก็พัง ถ้าเปรียบจักรยานชนิดนี้เป็นเครื่องบิน คนขี่ก็ไม่ต่างอะไรจากนักบินทดสอบที่ต้องเค้นสมรรถนะของตัวเองและจักรยานออกมาให้หมด รีดมันออกมาให้ถึงที่สุด และเมื่อทำได้เช่นนั้นก็จงระวังให้ดีเถิดว่าอาจมีการแตกหักเสียหายของทั้งเฟรมและอุปกรณ์ อาจจะมีตัวคุณเป็นของแถมด้วยก็ได้
สิ่งที่มันไม่ใช่ : การขี่แบบสบาย ๆ ชิว ๆ ที่ไหน ๆ ก็ตาม ถ้าต้องการแบบนี้ให้ไปใช้ครอส คันทรี่หรือเทรลไบค์จะดีกว่า หรือจะให้กระแทกกระทั้นกันตลอดทางแบบดาวน์ฮิลล์ยังถือว่าแรงไป

Downhill
วัตถุประสงค์ : ถ้าคิดว่าจักรยานอะไรก็ได้จะมาร่อนลงเนิน แล้วยังเป็นคัน ๆ ครบสามสิบสองทั้งคนทั้งรถตอนปลายทางคุณคิดผิด จักรยานดาวน์ฮิลล์ต้องเป็นดาวน์ฮิลล์ที่สร้างมาเพื่อดิ่งลงเขาโดยเฉพาะ มันต้องมีเฟรมแข็งแกร่งถึงจะหนักหน่อยก็ไม่เป็นไร มีระบบกันสะเทือนที่มั่นใจได้ มีช็อคช่วงชักยาวสุด ๆ เพราะต้องกระแทกกระทั้นกันตลอดทางรวมทั้งการโดดเหินสูง ๆ ที่ตอนลงเป็นได้ทั้งนิ่มนวลแบบมีเนินรองรับและตูมเดียวกระจายทั้งคนทั้งรถ

พวกนักจักรยานดาวน์ฮิลล์ หลายคนใช้อุปกรณ์เบากว่าแบล็คไดมอนด์ เพราะพิจารณาแล้วว่ามันพังแน่ เมื่อพังก็เปลี่ยนใหม่แบบไม่ต้องซ่อม ดังนั้นจึงเล่นของเบาไปเสียเลย เป็นจักรยานแบบเดียวที่ต้องปรับแต่อุปกรณ์กันตามภูมิประเทศสนามแข่งขัน นักจักรยานที่คว้าถ้วยในสนามหนึ่งอาจจะเดี้ยงได้ในอีกสนามแบบเห็น ๆ และเป็นจักรยานประเภทเดียวอีกเหมือนกันที่คุณต้องทำการบ้านให้มาก ๆ หาข้อมูลให้ละเอียดก่อนจะควักกระเป๋าซื้อมาไว้เหินหาวเล่นสักคัน เพราะมันพังง่ายมาก มีแต่ของดีเท่านั้นที่จะอยู่กับคุณได้ (นานขึ้นอีกนิด)

น้ำหนัก : 16 – 22.5 ก.ก.

ระดับความโหดที่รับได้ : โหดแบบดาวน์ฮิลล์ระดับมืออาชีพไงล่ะ แต่ถึงจะรับได้ก็ยังพังถ้าเหินสูงแล้วลงพื้นกระแทกแรงเกิน เป็นจักรยานหนึ่งในไม่กี่ประเภทที่ต้องดูแลกันราวลูกอ่อน เพราะแทบวางใจในความปลอดภัยไม่ได้เลยหลังจากแข่งแต่ละครั้ง
สิ่งที่มันไม่ใช่ : ทางเรียบหรือวิบากใด ๆ ที่ไม่ใช่ดาวน์ฮิลล์ ลองเอาจักรยานดาวน์ฮิลล์ไปขี่ในทางเรียบแบบนั้นจะรู้ว่านรกมีจริง มันไม่ใช่ของเล่น ใช้ทิ้ง ๆ ขวาง ๆ คุณอาจไม่มีวันชนะ หรือร้ายกว่านั้นคืออาจเจ็บตัวแบบถาวร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น