วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2558

ซ้อมอย่างฉลาด ไม่ได้เน้นแค่ปริมาณ ตอนจบ

นี้เราจะมาวางเป้าหมายใน 6 ขั้นตอนที่จะไปให้ถึงเป้าหมายนั้นไม่ยาก ก็แต่ตั้งธงหรือเป้าหมายขึ้นมาอันหนึ่งแล้วพยายามฝ่าฟันไปให้ถึง ฟังดูแล้วไม่ยากเลยแต่ก็ยังมีหลายคนที่ทำไม่เป็นจนในที่สุดก็หงุดหงิดเพราะทำไม่ได้ตามเป้า ลงท้ายก็ผิดหวังแล้วพาลเลิกซ้อมหันไปเล่นหมากเก็บแทน ขั้นตอนที่เราจะแนะนำท่านทั้ง 6 ข้อนี้คือหลักคิดง่าย ๆ เพื่อความสำเร็จในการซ้อม


1. ต้องเจาจง : ต้องมีเป้าหมายที่แน่นอนมากกว่าจะคิดแบบกว้าง ๆ ตัวอย่างเช่นถ้าเป้าของคุณคือ “ต้องขี่ไกลให้ได้ดีกว่าเดิม” มันก็กว้างไปเพราะอะไรล่ะคือความหมายของคำว่าดีกว่าเดิม จะวัดผลได้ยังไงหรือว่าแค่การขี่จนครบระยะทางแล้วไม่หมดรงคือความสำเร็จ งั้นหรือเปล่า ถ้ามีตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ต้องการขี่ไกล 100 ก.ม. ให้ได้ภายในสี่ชั่วโมงล่ะ เห็นไหมว่าเงื่อนเวลาคือตัวกำหนด คุณอาจจะเคยขี่ได้นาน 4 ชั่วโมงครึ่งแต่พอลดลงมาอีกครึ่งชั่วโมงนั่นหมายความว่าเร็วขึ้นอีกและวัดเป็นตัวเลขได้คือ 30 นาที ที่เราว่าต้องเจาะจงก็คือเป้าหมายนั้นต้องวัดปริมาณได้ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขระยะทางหรือน้ำหนักที่ลดลงภายในเงื่อนเวลาที่กำหนด หรืออะไรก็ตามคุณต้องวัดได้ชัด ๆ เพื่อประมาณความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม แล้วจะเกิดแรงบันดาลใจ แรงจูงใจให้ซ้อมหนักขึ้นอีกเพื่อขยายขีดจำกัด

2. ขยายขีดจำกัดไปทีละขั้น : ง่าย ๆ คือต้องวางเป้าไว้ทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวเพื่อค่อย ๆ เพิ่มขีดความสามารถไปเรื่อย ๆ มากกว่าแค่วางเป้าหมายระยะยาวอย่างเดียว คือถ้าคุณหมายใจไว้ว่าจะขี่ให้ได้ 150 ก.ม. ก็ต้องวางแผนเอาไว้ก่อนว่าสามเดือนแรกหลังจากเริ่มซ้อมจะขี่ให้ได้ 70 ก.ม. แล้วเดือนถัดมาก็เพิ่มเป็น 120 ก.ม. กับอีกสองเดือนหลังสุดจึงขี่ให้ได้ 150 ก.ม. สบาย ๆ การค่อย ๆ เพิ่มจะช่วยได้ทั้งความคุ้นเคยของกล้ามเนื้อและระบบประสาท ช่วยได้ทั้งด้านจิตใจคือเมื่อคุณทำได้ก็จะมีแรงกระตุ้นให้ขยายขีดจำกัดของตัวเองออกไปเรื่อย ๆ เช่นกัน
ต้องวางเป้าให้ยาก แต่อย่าให้สาหัสความหมายก็คือยิ่งยากขึ้นไปคุณก็ยิ่งเก่ง พอผ่านจุดนั้นไปได้แล้วก็จะสบายพร้อมวางเป้าให้ยากขึ้นไปอีก พอผ่านของยากไปได้ก็ควรจะตั้งเป้าให้ยากกว่าเดิมอีกนิดแล้วจะท้อ เช่น การวางเป้าว่าจะขี่ให้ไกล 100 ก.ม. ถ้าไม่เคยขี่ไกลกว่า 30 ก.ม.มาก่อนควรเขยิบขึ้นมาให้ได้สัปดาห์ละ 10 ก.ม. และควรมีเวลาขี่อย่างน้อยสัปดาห์ละสามวัน ไม่ใช่เคยขี่จักรยานได้ไกล 30 ก.ม. แล้วเพิ่มขึ้นฮวบฮาบเป็น 100 ก.ม. เลยรวดเดียว ระบบของคุณจะเสียหมด จะปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรืออาจถึงกับฉีก ปวดหลัง ปวดไหล่

3. ต้องติดตามผลได้ : เป้าหมายที่ตั้งไว้ถ้าไม่มีการติดตามผล ไร้ซึ่งการจดบันทึกมันก็เป็นแค่เป้าหมายที่วางไว้เฉย ๆ แต่เมื่อใดที่มันถูกติดตามผล ถูกจดบันทึกแล้ว เมื่อนั้นแหละคือเครื่องบ่งบอกว่าคุณก้าวไปถึงไหน เช่น คุณวางเป้าไว้อยากจะขี่ไกล 100 ก.ม. ให้เร็วที่สุด เมื่อยึดเวลาเป็นที่ตั้งแล้วคุณก็ต้องจดเวลาเปรียบเทียบกันระหว่างการขี่จักรยานครั้งก่อนกับครั้งนี้เพื่อให้เห็นตัวเลขชัด ๆ ว่าทำเวลาได้เร็วขึ้นกว่าครั้งก่อนกี่นาที ถ้าไม่มีตัวเลขมันก็ไม่มีแรงจูงใจง่าย ๆ แค่นี้เอง

4. ต้องใจเย็นให้มากพอกับดื้อด้าน : ใครที่ชอบกีฬาจักรยานทางเรียบและเคยติดตามเรื่องราวของตูร์เดอฟร็องซ์ จะรู้จัก เกรก เลอ ม็องค์ ที่เคยเกิดอุบัติเหตุจากการล่าสัตว์เมื่อปี 1987 เขาวางเป้าหมายไว้ว่าต้องกลับมาชนะตูร์เดอฟร็องซ์อีกครั้ง แล้วก็ทำได้ในปี 1989 ในกรณีของ แลนซ์ อาร์สตรอง ก็เช่นกันที่เพิ่งหายจากมะเร็งในปี 1997 เขากลับมาแข่งใหม่แล้วชนะในปี 1999 แล้วต่อจากนั้นก็เป็นแชมป์ต่อมาอีก 6 สมัย
จะเห็นได้ชัดเลยว่าทั้งคู่ต้องใช้เวลาถึงคนละเป็นปีทั้งนั้นกว่าจะกลับมายิ่งใหญ่ ดังนั้นต้องเข้าใจไว้ด้วยว่าต้องใจเย็นแต่ไมใช่เฉื่อยชาแต่ขณะเดียวกันต้องดื้อ ต้องมุ่งมั่นซ้อมด้วยเป้าหมายเดียวแล้วทำให้สำเร็จ เพราะตามธรรมชาติของมนุษย์นั้นการกระทำการทุกสิ่งต้องมีอุปสรรคเสมอ และอุปสรรคที่ผ่านเข้ามานั้นก็มีหลายสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แต่ข้อดีของมนุษย์อยู่อย่างหนึ่งก็คือเรารู้จักเรียนรู้
ดังนั้นจงใช้อุปสรรคให้เป็นประโยชน์ด้วยการเรียนรู้มันแล้วต้องฉลาดพอจะไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำซาก เพื่อคุณจะได้เสียเวลาและพลังงานเพื่อก้าวสู่ความสำเร็จน้อยลง

5. ปรับตัวให้เข้ากับเป้าหมาย : ต้องสร้างนิสัยการวางแผนไว้ให้คุ้นเคย หมายความว่าต้องวางแผนก่อนจะทำการใด ๆ การวางแผนจะช่วยให้คุณประหยัดได้ทั้งเวลาและทรัพยากรอื่น ๆ หรือแม้แต่เงิน ต้องใส่ใจรายละเอียดระหว่างเส้นทางว่านอกจากความเร็วในการปั่นแล้วยังมีอะไรอีกที่ต้องปรับเปลี่ยน เช่นใช้เวลาหยุดเพื่อดื่มน้ำในจุดให้น้ำนานเกินไปหรือเปล่า ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วควรจะลดเวลาการดื่มน้ำให้น้อยลง หรือหยุดดื่มน้ำให้น้อยจุดลง หรือเรื่องอื่น ๆ
ถ้าทำได้เช่นนี้คุณก็จะบรรลุเป้าหมายคือถึงที่หมายได้เร็วขึ้น ถึงจะไม่เร็วกว่าเพื่อนก็ยังเร็วกว่าที่ตัวเองเคยทำไว้ เป้าหมายของคุณต้องเป็นไปในทางเดียวกันกับความสามารถทางกายคือไม่หนักเกินไปจนทำไม่ได้ เพราะคนอย่าง แลนซ์ อาร์มสตรองมีเพียงคนเดียวในโลก เป้าหมายที่คุณวางไว้จึงต้องอยู่ในขอบเขตความสามารถของตนเองซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้ไปถึงจุดหมายในที่สุด

6. คิดถึงแต่ความสำเร็จ : ตรงนี้ต้องแยกให้ออกจากคำว่า ฟุ้งซ่าน พวกนักกีฬาเก่ง ๆ จะเข้าใจถึงการสร้างจินตนาการได้ดี พวกเขาจะคิดถึงแต่ความสำเร็จจากการแข่งขันบ่อย ๆ จนเมื่อถึงเวลาได้รับชัยชนะจริง ๆ แล้วมันกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเลย ไม่ตื่นเต้น แต่การใช้จินตนาการนี้ไม่ใช่อยู่ดี ๆ ก็คิดว่าตัวเองจะลุกขึ้นมากปั่นได้เร็วและไกลทั้งที่ไม่เคยซ้อม มันต้องเป็นจินตนาการที่ออกมาจากความสามารถ หมายความว่าเมื่อคุณซ้อมมาดีแล้วและมากพอจนเกิดความมั่นใจ นั่นแหละคือจุดที่ใช้จินตนาการได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะมันจะช่วยสร้างกำลังใจเพื่อกระตุ้น การสร้างจินตนาการคือกระบวนการจิตสำนึกที่จะทำให้จิตใจผ่อนคลาย เมื่อคุณได้เห็นภาพที่ตัวเองกำลังปั่นจักรยานอยู่นั้นจะทำให้ระบบประสาทส่วนกลางผ่อนคลายและตอบสนองต่อความคิดนั้นเหมือนมันเป็นจริง จะว่าไปแล้วการจินตนาการก็เหมือนการซ้อมใหญ่ ที่ช่วยให้คุณคุ้นเคยกับสภาพจริง ๆ ที่ต้องเจอข้างหน้า ซึ่งถ้าทำได้จริงก็จะได้ผลคือลดความตื่นเต้น ผ่อนคลายและคุ้นเคยกับสิ่งที่ต้องเจอและเราเชื่อว่า แลนซ์ อาร์มสตรอง เองก็ใช้วิธีนี้มาแล้วเวลาลงแข่ง เขามักจะสำรวจเส้นทางยาก ๆ ก่อนวันแข่งด้วยการขี่จักรยานไปตามเส้นทางนั้น เมื่อจำได้แล้วก็ไม่ยากที่จะคิดถึงสภาพตัวเองตอนที่ใช้เส้นทางนั้นจริง ความคิดที่ว่า “ได้ไปมาแล้ว ทำได้แล้ว “ จะเกิดขึ้นในหัว ขจัดความหวาดกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ทิ้งไปได้หมดก่อนการแข่งจริงจะเริ่มขึ้น จะมีอะไรวิเศษไปกว่าการแข่งกีฬาโดยไร้ความกดดันล่ะ
วิธีการสร้างจินตนาการนั้นไม่ยาก เพียงแค่คุณมีที่นิ่ง ๆ เงียบ ๆ ให้นั่งได้สักที่ แล้วใช้ตรงนั้นนั่งหรือนอนคิดถึงสภาพเส้นทางที่จะขี่ คิดถึงสายลมเย็นที่พัดปะทะกาย คิดถึงความสนุกสนานที่ตัวเองและจักรยานพุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว แล้วเมื่อขี่จริงคุณก็พยายามทำให้ได้เช่นที่เคยนึกภาพไว้ ดูเหมือนจะโม้แต่ถ้าทำได้จริง ๆ นี่แหละจะเป็นตัวเพิ่มประสิทธิภาพให้การขี่จักรยานคุณได้เหนือจินตนาการไหน ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น