ใครที่เรียนมาถึงม.6 เป็นอย่างน้อยเกือบทุกคนต้องรู้จัก อัลเบิร์ต ไอน์สไตล์ นักวิทยาศาสตร์ชาวยิว-เยอรมัน เจ้าของทฤษฎีสัมพันธภาพ อันลือเลื่อง ผู้สร้างทฤษฎีการแตกตัวของอะตอมจนได้สูตรคำนวณบันลือโลก E=MC2 ที่ทำให้เกิดระเบิดปรมาณูในเวลาถัดมา ทั้งที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องแต่มีคนรู้น้อยมากว่าไอน์สไตน์ชอบสีไวโอนลินและขี่จักรยาน เขาพูดบ่อย ๆ ว่าตัวเองคิดอะไรออกเมื่อขี่จักรยาน
คำพูดที่บอกว่าเกิดความคิดใหม่ ๆ ระหว่างขี่จักรยานนอกจากจะบอกเราได้ว่าการออกกำลังกายทำให้สมองโล่งปลอดโปร่ง ยังบอกได้อีกว่าคนพูดนั้นอยากมีเวลาขี่จักรยานเยอะ ๆ หรือเอามาเชื่อมโยงกับเรื่องของเราได้คือถ้าคุณอยากมีสุขภาพดีหรืออยากขี่ให้ไกลก็ต้องหาเวลาขี่ แต่ต้องทำอย่างถูกต้องและมีเวลาพักผ่อนให้ร่างกายฟื้นตัว เฟาส์โต ค็อปปี อดีตแชมป์ตูร์ เดอ ฟร็อง หลายสมัยชาวอิตาเลียนก็เคยพูดเอาไว้เมื่อถูกผู้สื่อข่าวยุคนั้นถามว่า ทำมาถึงครองแชมป์ไว้ได้และชนะเลิศหลายรายการ คำตอบของค็อปปีสั้น ๆ และง่ายคือ “ Ride a lot “ ขี่ให้บ่อย ๆ ให้มากเข้าไว้แล้วจะเก่งเอง
สำหรับผู้ต้องการเอาชนะตัวเองด้วยการเอาตัวเลข 100 เป็นหลัก ไม่ว่ามันจะเป็นระบบเมตริก (100 ก.ม.) หรืออังกฤษ ( 100 ไมล์ = 160 ก.ม.) ก็ตาม ถ้าไม่หาเวลาขี่ก็คงยากที่จะทำระยะให้ถึง หรือถ้าทำได้ก็คงกะปรกกะเปรี้ยเต็มทนและดูไม่ดีเลยเมื่อขี่ครบ ต้องหาเวลาให้ได้และถ้าระยะทางยาวขึ้นก็ต้องมีเวลาขี่จักรยานซ้อมมากขึ้นอีก ความท้าทายของพวกนักจักรยานวันหยุดหรือปั่นเพื่อสุขภาพก็คือการหาเวลาให้ได้ ในเมื่อต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว มีกิจกรรมนอกบ้านเป็นประจำ พอกลับมายังต้องดูแลบ้านช่องอีก ดูเหมือนว่าจะหาเวลาได้ยากเหลือเกิน อย่าว่าแต่จะไปขี่จักรยานเลยจะให้ทำเรื่องบันเทิงอื่น ๆ ก็ยังยาก
ทั้งที่หาเวลาขี่ได้ยาก มีเวลาขี่จักรยานได้น้อยกว่าที่ต้องการแต่ก็ใช่ว่านั่นคือความด้อย คุณก็เป็นคนธรรมดาเหมือนคนทั่วไปนั่นแหละ เมื่อมีเวลาขี่น้อยแต่อยากขี่จึงต้องชดเชยด้วยการวางแผนและบริหารเวลาให้เป็น วิธีหนึ่งคือหาเวลาขี่ให้ได้ และอีกหนึ่งคือใช้เวลาเท่าที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการขี่จักรยาน
บริหารเวลาให้เป็น
เมื่อเวลาเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การขี่จักรยานทางไกลบรรลุผล คุณมีแนวทางในการปฏิบัติดังนี้
ตั้งเป้าหมาย : ต้องมีวันและเวลาแน่นอนในการขี่จักรยาน ถ้ากลัวจะลืมก็วงไว้ในปฏิทิน จะให้เป็นทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันพุธทุกสัปดาห์ก็ได้จะได้ไม่ลำบากในการจำ ปล่อยให้วันจันทร์-อังคารและพฤหัสฯ-ศุกร์ เป็นวันพักผ่อนให้ร่างกายฟื้นสภาพ พอได้วันที่ต้องการแล้วต่อไปก็จัดระเบียบชีวิตให้พร้อมสำหรับวันนั้น คือยึดวันและเวลาขี่จักรยานเป็นหลักแล้วปรับชีวิตการทำงานให้ลงตัวสอดคล้อง คุณต้องว่างเสมอเมื่อถึงเวลาขี่ งานต้องเสร็จต้องไม่มีนัดหมายประชุมใด ๆ (ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ) มาขัดขวางเมื่อถึงเวลาขี่จักรยาน ตั้งใจจริงแล้วต้องไม่มีอุปสรรคใดมาขัดขวางคุณไว้จากจักรยาน
ต้องรู้ความต้องการของตัวเอง : สมมุติว่าคุณมีเป้าหมายว่าจะขี่ 100 ก.ม. ให้ครบกับกลุ่มเพื่อนฝูง นั่นคือเป้าและตามความเข้าใจของคนทั่วไปที่ว่ายิ่งขี่มากยิ่งทน แต่ก็ไม่จริงเสมอไปหากคุณใช้โปรแกรมการซ้อมที่ถูกต้อง มีเทรนเนอร์ไว้ประกอบจักรยานปั่นในบ้านจำลองสภาพเส้นทางทั้งทางเรียบและขึ้นเขานักจักรยานที่ขี่มานานรู้ดีว่าเขาสามารถรับมือกับระยะทางและเวลานานกว่าที่เคยขี่ปกติสองถึงสามเท่าได้สบาย ๆ ตราบใดที่ยังรักษารอบขาไว้ได้และมีน้ำกับอาหารไว้ดื่มกินตลอด เมื่อเหนื่อยก็หยุดช่วงสั้น ๆ ไม่จำเป็นต้องขี่ตลอดเวลา เพราะจุดหมายคือระยะทาง เพื่อชนะใจตัวเองไม่ใช่ชนะการแข่งขันกับใคร ๆ ดังนั้นถ้าคุณขี่ได้ทุกวันแบบสบาย ๆ วันละ 40-50 ก.ม. นานติดต่อกันหลาย ๆ เดือน เจอระยะ 100 ก.ม. สักครั้งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
จะขี่ช่วงเช้าหรือบ่ายต้องกำหนดให้แน่ : ตรงนี้ขึ้นอยู่กับการวางแผนในหัวข้อ “ตั้งเป้าหมาย” ด้วย ว่าเมื่อคุณมีเวลาขี่แล้วจะให้มันอยู่ในช่วงไหนของแต่ละวัน ที่แน่ ๆ คือมันต้องไม่รบกวนงานประจำ เรื่องนี้อาจไม่เป็นปัญหาสำหรับคนทำงานอิสระหรือมีกิจการของตัวเองอยู่ที่บ้าน แต่เป็นเรื่องใหญ่แน่กับคนทำงานออฟฟิศมีเวลาเข้าและเลิกงานตายตัว วันเสาร์อาทิตย์ อาจหาเวลาขี่ได้แต่วันธรรมดาคงแทบหมดสิทธิ์ ถ้าไม่ชดเชยด้วยการปั่นเทรนเนอร์ในบ้านการซ้อมคงขาดช่วง ถ้าจัดเวลาได้ก็ต้องมาดูกันอีกล่ะว่าขี่ตอนเช้า ๆ หรือตอนบ่ายดี มาดูกันว่าเช้ากับบ่ายจะให้ความรู้สึกในการขี่จักรยานต่างกันแค่ไหน
การขี่ตอนเช้าให้ประโยชน์กับคุณหลายอย่าง ยามเช้าไม่ค่อยร้อนไม่ว่าจะเป็นหน้าร้อนหรือหน้าฝน ยิ่งหน้าหนาวยิ่งเย็นอากาศช่วงเช้าสะอาดกว่าช่วงบ่ายเพราะรถรายังไม่ค่อยออกมาพ่นมลพิษบนถนน คุณแต่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมด้วยการเข้านอนแต่หัวค่ำเพื่อให้สดชื่นเมื่อตื่นแต่เช้าตรู่ เท่านั้นก็พอแล้ว ถ้ารู้ว่าอาจไปทำงานไม่ทันก็เลื่อนเวลาขี่ให้เร็วขึ้นอีก นอนให้เร็วกว่าเดิมเพื่อชดเชยกัน การนอนดึกตื่นเช้าจะทำให้เพลียก่อนจะขี่ไม่เป็นผลดีต่อร่างกายเลย
ถ้าไม่มีเวลาขี่ช่วงเช้าก็เหลือแค่ตอนบ่ายและเย็นหลังเลิกงานดูจะเหมาะที่สุด ถ้าคุณคิดว่าจะเป็นอันตรายก็ต้องเลือกเส้นทางให้ดี ๆ โดยอาจจะสำรวจก่อนในตอนกลางวันก็ได้ ให้ได้ทางที่เรียบ การจราจรไม่พลุกพล่านและมีไฟส่องสว่างตลอดทาง ข้อดีคือไม่ต้องเตรียมตัวมากนอกจากต้องเคลียร์งานประจำให้เสร็จก่อนเย็นเท่านั้น คนในเมืองอาจได้ประโยชน์ตรงที่การจราจรเบาบางลงแล้วหลังเลิกงาน ส่วนคนต่างจังหวัดสบายกว่าเพราะกลับถึงบ้านได้เร็วและการจราจรเบาบางลงเร็วกว่ากรุงเทพฯเว้นแต่จังหวัดใหญ่ ๆ อย่างเชียงใหม่ที่การจราจรหนาแน่นตลอดเวลา
เพื่อความปลอดภัยสิ่งที่ต้องติดตัวและจักรยานตลอดเวลาคือไฟหน้าและหลัง แถบสะท้อนแสงก็ต้องมีและควรยกเลิกการขี่ถ้าฝนตกหรือหมอกลง โอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงมากทั้งจากทัศนวิสัยไม่ดีและสภาพถนนลื่นที่บังคับรถยนต์ได้ยาก
ถ้าขี่ไปทำงานได้ ใช้ซ้อมซะเลย : คำแนะนำเก่าแก่ที่ยังใช้ได้เสมอสำหรับการซ้อมให้ขี่ไกล ๆ คือการขี่จักรยานไปและกลับจากที่ทำงานหรือที่ใด ๆ ที่ไปทำธุระเสียเลย สมมุติว่าที่ทำงานของคุณอยู่ห่างจากบ้าน 20 ก.ม. ขี่ไปกลับก็ 40 ก.ม.แล้ว ใน กทม.เดี๋ยวนี้เห็นคนขี่จักรยานไปทำงานกันมากขึ้น คาดว่าด้วยสภาพจราจรที่ไม่หนาแน่นเหมือนกรุงเทพฯ คนต่างจังหวัดน่าจะเอื้ออำนวยให้ขี่จักรยานทำงานได้มากกว่า มันอาจด้อยคุณภาพบ้างเมื่อเทียบกับการขี่ในที่ ๆ คุณเลือกได้ เพราะต้องเจอกับสัญญาณไฟจราจรให้เคลื่อน ๆ หยุด ๆ ตลอดเวลา แต่ก็เป็นทางออกที่ดีสำหรับคนที่อยากปั่นและที่ทำงานมีห้องอาบน้ำพร้อม และอย่าได้ทำเป็นเล่นไปเพราะนักจักรยานในรายการแข่งข้ามประเทศเอมริการ (Race Across America หรือ RAAM) มีจำนวนไม่น้อยที่ซ้อมทางไกลด้วยการปั่นไปและกลับจากที่ทำงาน และใช้มันแทนรถยนต์ในชีวิตประจำวัน
ขี่จักรยานไปเที่ยว ให้คนในครอบครัวขับรถตาม : เป็นวิธีที่ดีสำหรับการท่องเที่ยวโดยเฉพาะกับคนมีครอบครัว หรือใครก็ตามที่มีคนขับรถตามเมื่อจะไปท่องเที่ยวในจุดหมายเดียวกัน คุณและเพื่อนหรือครอบครัวไปถึงที่หมายด้วยกัน ไม่ว่าจะให้เขาขับรถไปรอหรือขับรถตามไปก็ตาม เมื่อถึงแล้วใช้เวลาพักผ่อนหย่อนใจที่ปลายทางตามสบายก่อนจะยกจักรยานขึ้นรถยนต์ขับกลับบ้าน ได้ทั้งความสนุกสนานระหว่างคนในครอบครัวและได้ซ้อมไปด้วย ถ้ายังไม่เคยทำเราบอกได้เลยว่าเป็นวิธีที่สนุกเฮฮามาก ถ้าคิดว่าการขี่ไปถึงแล้วยกขึ้นรถอาจจะน้อยไปคุณจะขี่เองทั้งไปและกลับก็ได้ พวกนักจักรยานทางไกลแบบกินระยะทางใช้วิธีนี้กันเยอะ
เน้นคุณภาพมากว่าปริมาณ : คำว่าคุณภาพยังใช้ได้ดีไม่ว่าจะเป็นวงการไหน ถ้าคุณภาพที่ดีมีมากกว่าปริมาณย่อมหมายถึงประสิทธิภาพของคุณเอง ถ้าคุณมีโอกาสขี่เป็นกลุ่มนั่นคือโอกาสที่ดีสำหรับการฝึกทักษะต่าง ๆ เช่นการลาก การดูดกลุ่ม ซุกอยู่กลางวงเพื่อประหยัดพลังงาน ซึ่งเหมาะหากคุณตั้งใจว่าจะขี่กับกลุ่มทางไกล ๆ และถ้าขี่คนเดียวโอกาสเพิ่มความแข็งแกร่งก็มีด้วยการปั่นรอบจัด ๆ หรือทำอินเตอร์วัลไปตลอดทางได้เพื่อความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ
หาโอกาสขี่ขึ้นเขา : ในบรรดาการฝึกเพื่อพลังวัดกันนาทีต่อนาที ไม่มีอะไรเกิดฝึกปั่นขึ้นเขา หรือจำลองการปั่นขึ้นเนินชัน ๆ ด้วยเทรนเนอร์ ยืนยันด้วยคำพูดของ เกรก เลอม็องด์ ที่บอกว่า “ไม่มีการซ้อมอะไรจะดีเท่าขี่ขึ้นเขา” และแลนซ์ อาร์มสตอรง ที่วัดขีดความสามารถของตัวเองด้วยการขี่ขึ้นเขาโคล เดอ ลา มาโดน ถ้าทำเวลาที่ภูเขามาโดนได้ดีนั่นหมายถึง แลนซ์ พร้อมแล้วที่จะเป็นแชมป์อีกสมัย
ถ้าไปข้างนอกไม่ได้ ให้ขี่ในบ้าน : คุณทำได้ทั้งด้วยจักรยานฟิตเนสที่ได้มาตรฐานหน่อย อาจต้องลงทุนเท่า ๆ กับจักรยานจริงแต่ก็คุ้ม ในจักรยานฟิตเนสดี ๆ จะมีอุปกรณ์และเครื่องวัดให้คุณพร้อม ทั้งปริมาณแคลอรี่ อัตราชีพจร วัดเปอร์เซ็นต์ไขมัน ระยะทาง ความเร็ว มีหมด หรือจะใช้ขาจับ (เทรนเนอร์) ยึดล้อหลังจักรยานคันเก่งของคุณก็ได้ ตารางการซ้อมทั้งแบบอินเตอร์วัลและขึ้นเขามีให้ดาวน์โหลดในเน็ตเกี่ยวกับจักรยานอยู่แล้ว การได้ปั่นเหงื่อตกบนจักรยานฟิตเนสหรือเทรนเนอร์สัก 40 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมง ช่วยคุณได้มากในด้านกำลังขา การเร่งฝีเท้าสปรินต์และความแข็งแกร่งตอนขึ้นที่ชันขอเพียงคุณมีเวลาและจัดสภาพแวดล้อมให้ดีไม่น่าเบื่อ การซ้อมในร่มจะช่วยได้มหาศาล แม้แต่นักจักรยานระดับโปรในแกรนด์ทัวร์ยังต้องปั่นเทรนเนอร์ก่อนแข่ง และถ้าเทรนเนอร์ไม่ดีจริงคงไม่มีการพัฒนาซอฟต์แวร์และสร้างเทรนเนอร์ขายกันถึงทุกวันนี้
ทั้งหมดคือการซ้อมเมื่อคุณบริหารเวลาได้ เมื่อจัดแบ่งเวลาได้ มีวินัยกับตัวเองคุณก็มีเวลาซ้อมด้วยเป้าหมายหลักว่าต้องขี่ให้ไกลให้ได้ ถ้าคุณมีจิตใจมุ่งมั่นแล้วคำว่า “ไม่มีเวลา” จึงไม่ใช่ทางเลือกเพราะถ้าเอาเวลาไปเที่ยวเตร่ดูหนังฟังเพลงหรือเฮฮากับเพื่อนฝูงได้ คุณก็น่าจะแบ่งเวลามาใช้กับจักรยานได้เหมือนกัน ขึ้นอยู่แต่ว่าจะ “ทำ” หรือ “ไม่ทำ” เท่านั้น แล้วคุณเล่าจะเป็นคนแบบไหน มีหรือไม่มีเวลาก็เลือกเอาถ้าโจทย์คือระยะทางไกล ๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น