วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2558

แฮนด์เสือหมอบเพื่อความสบายยามปั่นไกล


Handlebar หรือที่เราเรียกกันอย่างคุ้นเคยว่า แฮนด์ นั้น คือส่วนประกอบของจักรยานที่มีความสำคัญมาก มันช่วยให้บังคับทิศทางได้สะดวก ช่วยการทรงตัวก็ได้ หากตั้งหรือวัดแฮนด์ไม่ได้ขนาดแล้วมันก็อาจจะทำคุณปวดเมื่อยได้ทั้งตัวเหมือนกัน เคยคิดกันบ้างหรือไม่ก็ตามว่าแฮนด์ซึ่งทำจากอลูมินั่มหรือคาร์บอนไฟเบอร์เป็นแท่ง ๆ นี้คืออุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยให้คุณสบายตัว หรือเจ็บตัวก็ได้ในการขี่จักรยานทางไกลโดยเฉพาะที่ระยะมากกว่า 100 ไปจนถึง 200 ก.ม.

หากจะถามถึงความเหมาะสมแล้ว แฮนด์ที่เหมาะกับการขี่ไกลที่สุดคือแฮนด์ดร็อป หรือแฮนด์เสือหมอบที่เราเคยเห็นกันบ่อย ๆ เหมือนมันจะเป็นแค่ท่อซึ่งเอามาดัดเป็นรูปคดโค้งแล้วพันด้วยเทปให้จับได้ไม่ลื่น แต่จริง ๆ แล้วกระบวนการเพื่อความสบายเริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนเลือกแฮนด์ คุณสมบัติข้อแรกที่ต้องการคือต้องเบาก่อนแล้วตามด้วยความกว้างของแฮนด์ซึ่งวัดได้ง่าย ๆ คือต้องกว้าวเท่าช่วงไหล่ของคนขี่ ส่วนจะสร้างจากวัสดุแปลกพิสดารอะไรก็คงขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ของแต่ละคน
เมื่อพิจารณากันให้ดีจะพบว่าตำแหน่งต่าง ๆ ที่วางมือได้บนแฮนด์เสือหมอบนั้นมันมีความหมาย อย่างแรกคือเพื่อให้คุณได้เปลี่ยนอิริยาบเมื่อต้องวางตัวอยู่ในท่าเดิม ๆ ตลอดนานเป็นชั่วโมง ๆ ตลอดระยะทาง เมื่อเมื่อยระหว่างเดินทางคุณสามารถเลื่อนมือมาวางในตำแหน่งต่าง ๆ ของแฮนด์ได้ตั้งแต่บนสุดถึงล่างสุด

นอกจากตำแหน่งการจับแฮนด์แล้ว วิธีจับที่ถูกต้องก็มี

ตำแหน่งบนสุด: จับด้วยการวางฝ่ามือลงบนแฮนด์ทั้งฝ่ามือแล้วกำแฮนด์ให้รอบ ให้นิ้วหัวแม่มืออยู่หลังท่อนแฮนด์เพื่อล็อคเอาไว้กันลื่น ถ้าคุณวางทั้งห้านิ้วบนแฮนด์มันจะลื่นไหลเสียหลักหัวคะมำได้หากปั่นไปเจอกับลูกระนาดหรือสันเหล็กสะท้องแสงบนถนน ตำแหน่งนี้คือท่าที่สบายที่สุด เหมาะกับการขี่ในย่านความเร็วไม่มากนัก และจะมั่นคงเมื่อปั่นขึ้นเนินโดยก้นยังติดเบาะ ถ้าเมื่อยแต่ยังไม่อยากจับเบรกก็เลื่อนมือมาตรงโค้งแฮนด์ใกล้เบรกได้เป็นการเปลี่ยนท่าทางเพื่อความสบาย

หัวมือเบรค: เมื่อเอื้อมมือมากำหัวมือเบรก ความรู้สึกหนึ่งที่คุณสัมผัสได้คือลำตัวจะโน้มมาข้างหน้าเล็กน้อย นิ้วเอื้อมมือถึงมือเบรคและก้านเปลี่ยนเกียร์ เมื่อใดที่ไม่มั่นใจว่าจะปลอดภัยเช่นการปั่นรวมกลุ่มซึ่งชิดกันมาก ๆ ระหว่างเข้าโค้ง การเอื้อมนิ้วถึงมือเบรคและมือเปลี่ยนเกียร์จะช่วยให้คุณปลอดภัยขึ้นหากมีเหตุหรืออุบัติเหตุที่ทำให้ต้องหยุดจักรยานกะทันหัน ในตำแหน่งนี้ลำตัวยังตั้งต้านลมอยู่ จึงเหมาะสำหรับการปั่นช่วงเดินทางโดยไม่หวังจะเร่งเครื่องแซงหรือใช้ความเร็วสูง ๆ

ตำแหน่งดร็อป: หรือตำแหน่งที่ต่ำสุดเกือบถึงปลายแฮนด์ตามปกติแล้วนักจักรยานทางไกลจะไม่ค่อยได้จับแฮนด์ตรงจุดนี้กัน เพราะมั่นต่ำและชวนให้ปวดเมื่อยหลังกับก้านคอได้ง่าย ๆ เอื้อมมือจับมือเบรกก็ไม่ได้อีก แต่ก็ต้องมีไว้เพราะเป็นตำแหน่งเดียวที่ทำให้ลำตัวนักจักรยานขนานกับพื้นที่สุด ผลที่ตามมาคือลู่ลมที่สุด เหมาะแก่การหลบลมพุ่งแหวกอากาศเพื่อการแซงจักรยานคันหน้าหรือเพื่อเร่งความเร็ว เมื่อเอื้อมมือจับแฮนด์ในตำแหน่งนี้แล้วตัวนักจักรยานจะกดลงต่ำสุด น้ำหนักจะถ่ายมาข้างหน้าแทนที่จะเป็นกดลงตรง ๆ ที่อานกลางจักรยาน

ตำแหน่งดร็อปจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อท่าทางและความรู้สึก รวมทั้งไม่ค่อยปลอดภัย นักจักรยานจึงแทบไม่ค่อยได้ก้มตัวลงมาจับแฮนด์ในตำแหน่งนี้บ่อยนัก เว้นแต่ช่วงที่จะเร่งแซงหรือเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบช่วงสั้น ๆ เพราะแฮนด์เสือหมอบเป็นเนื้อวัสดุล้วน ๆ และโค้ง การจะทำปลอกหุ้มเหมือนแฮนด์เมาเท่าไบค์นั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลยจึงต้องใช้วิธีพัน เทปพันแฮนด์เสือหมอบดี ๆ จะเป็นฟองน้ำแผ่นบาง ๆ เพื่อคอยซับแรงกระแทกจากพื้นดินที่วิ่งตามล้อและตะเกียบหน้าขึ้นมาถึงมือ

แต่ทั้งนี้การจะขี่ให้สบายตลอดเส้นทางนั้นเป็นไปไม่ได้ เมื่อร่างกายต้องวางตำแหน่งอยู่ในท่าเดิม ๆ ทีละนาน ๆ และมีน้ำหนักกดทับกล้ามเนื้อกับเส้นประสาท คุณย่อมต้องเจ็บปวด เมื่อย ซึ่งทำอย่างดีก็คงได้แค่บรรเทาให้ทรมานน้อยที่สุด ซึ่งจะเกิดจากการปรับระยะห่างระหว่างอานกับแฮนด์ให้พอเหมาะ การเปลี่ยนตำแหน่งวางมือการเลือกขนาดของแฮนด์ให้พอดกับช่วงกว้างหน้าอกหรือไหล่ เมื่อรู้สึกว่าปวดเมื่อยก็ลุกจากเบาะขึ้นโขยกเสียบ้าง

เรื่องราวข้างต้นนั่นคือรายละเอียดของการใช้แฮนด์เสือหมอบเพื่อปั่นทางไกล 100 – 200 กิโลเมตร และวิธีวางมือซึ่งจะช่วยให้คุณสบายขึ้นในระยะทางไกล ๆ นอกจากตัวแฮนด์เองจะสำคัญแล้ว ความสำคัญรองลงไปก็น่าจะไม่พ้นความสูงของคอแฮนด์ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการวางแหวนรอง (สเปเซอร์) ความยาวของคอตะเกียบแม้แต่การสร้างเฟรมให้เป็นแบบเพอร์ฟอร์แมนซ์ ฟิต (เน้นความสบายในการขี่ทางไกล) หรือ โปร ฟิต (เน้นท่าทางการแข่งเพื่อให้เกิดความเร็วมากกว่าความสบาย)

ถ้าคุณอยากให้จักรยานขี่สบาย (หรือที่ถูกต้องคือเพื่อทรมานน้อยที่สุด) ในระยะไกล ๆ ก็ต้องใส่ใจให้รายละเอียดเพราะมันคืออุปกรณ์หนึ่งในสามชิ้นที่รับน้ำหนัก นอกเหนือจากอานและลูกบันได ถ้าเลือกไม่ดีหรือได้ขนาดไม่พอเหมาะสิ่งที่จะตามมาคงไม่พ้นเรื่องการปวดไหล่และเอว ทั้งที่ทุกสิ่งพร้อมแล้วแต่ถ้าได้แฮนด์ไม่ดีปรับระยะไม่เหมาะสม คุณก็อาจไปไม่ถึงจุดหมายเอาง่าย ๆ เหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น