วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558

เครื่องมือสามัญประจำบ้าน

ต้องเริ่มกันก่อนว่าเครื่องมือในรายการนี้ เป็นเครื่องมือสามัญที่หาซื้อได้ไม่ยาก มีขายทั่วไป หลากหลายราคา เพียงแต่อยากให้นักปั่นลงทุนซื้อของดีสักนิด เพราะเครื่องมือที่ไม่ได้คุณภาพอาจทำลายหัวน็อตที่ติดรถของท่านมากับชิ้นส่วนต่างๆ บางตัวน็อตทำจากไทเทเนียม แพงเสียยิ่งกว่าหกเหลี่ยมที่ใช้เสียอีก หัวรูด บานขึ้นมางานเข้าเสียของกันมาแล้วไม่น้อย เสียเงินซื้อจักรยานคันละหลักหมื่นไปจนแสน อย่ขี้่เหนียวเครื่องมือหลักพันเลย ส่วนใครจะใช้เครื่องมือยี่ห้อแบรนด์ช่างจักรยานอาชีพ ก็ทำงานได้ครอบคลุมและวางใจกับคุณภาพได้แน่นอน ส่วนตัวผมคิดว่าเลือกระดับราคาที่พอเหมาะ คุณภาพงานดี เนื้อโลหะดี ก็ใช้งานได้แล้วครับ


1.ชุดไขควง
สำหรับจักรยานใช้ไขควงกับน็อตสกรูน้อยมาก หลักๆคือน็อตที่สับจานและตีนผี นอกนั้นก็เป็นชิ้นส่วนยิบย่อยต่างๆ แต่เนื่องจากไขควงเป็นเครื่องมือที่หาได้ง่าย ราคาไม่แพง มีติดบ้านเอาไว้ก็ไม่เสียหายใข้งานอื่นได้ด้วย ไขควงสำหรับจักรยานใช้เป็นปากแฉกขนาดเล็กเสียเป็นส่วนใหญ่ ปากแฉกหัวเบ้อเร่อไม่จำเป็นนะครับ ส่วนตัวผมคิดว่าพวกกล่องๆขายทั่วไปก็ใช้งานได้แล้ว เพราะน็อตบนจักรยานขันแรงตึงไม่มากเท่าไหร่ ถ้ามือไม่แย่จริงๆ ไม่ทำหัวน็อตบานแน่นอน

2.หกเหลี่ยม
หกเหลี่ยมหรือ Allen Key เป็นเครื่องมือจำเป็นสำหรับจักรยานก็ได้ ไม่เชื่อท่านลองไปดูจักรยานของท่าน แล้วนับดูจะเห็นได้ ว่านับกันง่ายๆ คร่าวๆ บนจักรยานมีน็อตหกเหลี่ยมร่วมๆ 30 ตัวเข้าไปแล้ว และแต่ละตัวขันในจุดที่สำคัญ ต้องการแรงตึงเช่นหลักอาน, ปลายเสต็ม หรือยึดตีนผี ดังนั้นขอสนับสนุนให้ลงทุนใช้หกเหลี่ยมคุณภาพดีที่สุดเท่าที่งบจะมีได้ และหากเป็นไปได้จริงๆ ถ้าลงทุนได้ ใช้ชุดประแจปอนด์พร้อมบล็อคหกเหลี่ยมเบอร์มาตรฐานไปเลยจะดีที่สุด เพราะน็อตเกือบทั้งหมดบนจักรยานระบุมาพร้อมแรงบิดที่เฉพาะ หากขันไม่แน่นพออาจเกิดอันตรายได้เช่นน็อตยึดแฮนด์ หรือถ้าแน่นเกินไปอาจทำให้ชิ้นส่วนเสียหายได้เช่นบรรดาคาร์บอนทั้งหลาย ถ้าท่านคิดจะปรับระยะฟิตติ้งจักรยานง่ายๆเอง หกเหลี่ยมถือเป็นสิ่งที่"ต้องมี"ขาดไม่ได้อย่างเด็ดขาด

3.ที่งัดยาง
ไม่ว่านักปั่นจะนิยมการปะยางหรือไม่ แต่บอกได้เลยว่าในชีวิตการปั่นจักรยานใครไม่เคยยางรั่วถือว่าเป็นบุคคลผู้เปิดมาพร้อมกับโชคบุญหนุนนำเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงการเปลี่ยนยางนอกขนาดต่างๆด้วยตัวเอง ไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไรเลย ใครคิดว่ายากและทำไม่เป็นลองคิดดูดีๆว่าร้านซ่อมจักรยานเล็กๆรับซ่อมจักรยานแม่บ้าน ปะรูละ 5 บาท 10 บาท สามารถงัดยาง ปะและใส่กลับได้คล่องมือ มันอาจต้องใช้เทคนิคบ้างนิดหน่อย แต่ไม่ยากไปกว่าการซื้อสมาร์ทโฟนมาสักเครื่องแล้วเริ่มต้นตั้งค่าการใช้งานตั้งแต่แรกแน่ ชุดงัดยางมักมาพร้อมกับชุดปะยางพกพา ซึ่งเจ้านี่ก็เป็นหนึ่งในรายการของที่ควรพกเอาไว้เวลาออกไปปั่นอยู่แล้ว ดังนั้นมีติดไว้ชุดเดียวก็ใช้ได้ทั้งที่บ้านและนอกสถานที่ ราคาก็หลักสิบบาทเท่านั้น... ไม่มีสาเหตุอะไรที่จะไม่มี

4.สูบ
สูบลมเป็นเครื่องมือดูแลรักษาจักรยานที่สำคัญที่สุดในบรรดาอุปกรณ์ทีควรมีทั้งหมดที่กล่าวมา ชิ้นส่วนหลวม เบี้ยว ผิดขนาด ยังพอขี่ได้ เกียร์ไม่ลง ชำรุดยังพอขี่ได้ แต่เช้าวันไหนตื่นมายางแบบฟีบไร้ลม แล้วจะไปปั่นถ้าไม่ฝากชีวิตไว้กับเพื่อนที่มีสูบ รับรองว่าอดปั่นแน่ สูบแบ่งเป็นทั้งสูบพกพาและสูบตั้งพื้นใช้งาน สูบพกพาสามารถพกติดตัวได้ ขนาดเล็ก แต่ข้อเสียหลักๆคือกินแรงเพราะต้องอัดลมกันหลายสิบ หรือหลักร้อยครั้งกว่าจะได้แรงดันที่ต้องการ สูบใหญ่อัดลมได้เบามือกว่า แถมอัดลมต่อครั้งได้ลมมากกว่า ใช้จำนวนครั้งในการสูบน้อยกว่ากันมาก เลือกสูบให้เหมาะกับจักรยานของแต่ละท่าน สูบสำหรับเสือหมอบควรมองหาสูบที่อัดแรงดันลมยางได้ไม่น้อยกว่า 100psi ขึ้นไป และ/หรือเลือกสูบที่ปรับหัวเปลี่ยนใช้งานได้ทั้งหัวจุ๊บสูบเสือหมอบและเสือภูเขาก็ได้ สำหรับเสือภูเขาหรือจักรยานทั่วไป สูบที่ขายตามห้างสรรพสินค้าทั่วไปก็ตอบโจทย์การสูบได้ แม้แต่สูบมอเตอร์ก็ใช้งานได้ดี แต่เสือหมอบโดยเฉพาะสายซิ่งอัดลมกัน 140-160psi เลือกสูบดีๆจะดีกว่า และอย่าลืมเลือกสูบที่มีเกจบอกแรงดันนะครับ มือใหม่นิ้วยังไม่เทพ บีบๆเอาวันไหนมือหนักจะสูบจนเกินแรงดันลมยางที่ควรสูบได้
สูบราคาตั้งแต่ 500 บาทไปจนหลายพันบาท ใช้งานดีเด่นต่างกันในรายละเอียด แต่ถ้าถามว่า"ใช้งานได้" ผมว่าใช้ได้เหมือนกัน

5.น้ำมันหยอดโซ่และจารบี
ข้อนี้อาจไม่ใช่เครื่องมือ แต่เป็นอุปกรณ์ดูแลรักษา ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญขาดไม่ได้ เพราะน้ำมันโซ่ที่หล่อลื่นให้โซ่วิ่งไปได้ ขดตัวได้ เสียดสีกับเฟืองได้และสึกหรอน้อยที่สุดไม่ได้มีอายุใช้งานชัวฟ้าดินสลาย ไหนจะสิ่งแวดล้อม ฝุ่น ดิน จากถนนที่สะสมอยู่บนโซ่และในข้อต่อโซ่จนเป็นคราบสีดำๆ ฟ้องว่าการหล่อลื่นได้ลดประสิทธิภาพลงไปแล้ว ดังนั้นต่อให้ไม่ได้ล้างโซ่จนหมดจด แต่นักปั่นที่รักจักรยานและชุดขับเคลื่อนราคาหลายหมื่น สามารถยืดอายุการใช้งานได้มากกว่าสองเท่าด้วยการดูแลง่ายๆเพียงเอาผ้าเช็ดรูดคราบให้โซ่สะอาด ล้างน้ำเปล่าหรือน้ำผงซักฟอกเจือจางแล้วเช็ดจนแห้ง จากนั้นหยอดน้ำมันกลับเข้าไป ทำบ่อยๆโซ่จะสึก(ยืด)ช้าลง วิ่งเงียบเสียงนุ่ม ส่วนจะเป็น้ำมันแบบไหน ราคาอย่างไร ตามแต่ทรัพย์และใจจะจัดหา บางคนชอบแบบน้ำมัน บางท่านชอบแบบแว็กซ์ แต่เลือกให้ถูกกับอากาศก็ดีครับ น้ำมันขวดละไม่กี่ร้อย...ดูแลชุดขับราคาหลายหมื่นได้ คุ้มออก ส่วนจารบี เป็นสารหล่อลื่นเอนกประสงค์ที่ช่วยหล่อลื่นในส่วนต่างๆ รวมถึงพอกเคลือบกันน้ำและความชื้นเข้าไปในชิ้นส่วนต่างๆ เช่นปลายปลอกสายหรือน็อตและเกลียว(บางชิ้นห้ามใส่ อ่านคู่มือประกอบเพื่อความแม่นยำ เช่นน็ฮตยึดใบจาน FSA ห้ามใส่จารบี บางรุ่นระบุให้ใช้กันคลายเลย) จารบีสำหรับจักรยานเลือกเอาแบบที่ไม่ข้นหนืดมาก เนื้อนวลเนียน เช่นจารบีเอนกประสงค์ที่มีในห้างขายอุปกรณ์ดูแลบ้านหลอดละไม่กี่ร้อยใช้งานได้ไม่เลว ส่วนจารบี Shimano ใช้งานได้ดีเยี่ยม แต่ออกจะเปลืองหากจะเอาใช้งานทุกอย่างทุกจุด เพราะราคาไม่ใช่ถูกๆ

อันที่จริงมีอีกหลายอย่างที่อยากแนะนำให้มีติดบ้านเอาไว้ เช่นตัวถอดโซ่, บล็อคถอดเฟือง และที่ถอดกระโหลก เพราะท่านจะสามารถดูและรักษาจักรยานของท่านได้เอง ยืดอายุได้ยาวนานประหยัดเงินค่าล้างบำรุงไปได้ไม่น้อย คิดเล่นๆว่าล้างบำรุงครั้งละร่วมพันบาท ปีนึงๆล้าง 4-5 ครั้งก็ครึ่งหมื่นแล้วนะครับ หรือใครจะวัดใจไม่ล้างไม่บำรุง อย่าได้แม้แต่จะคิด เพราะผมเคยกระโหลกตายลูกปืนแห้งสนิมขึ้นแตกล็อคจนไม่หมุน ขาจานอัดกระโหลกจนเกลียวกระโหลกที่เฟรมเกือบพัง เสียดสีร้อนจนมีกลิ้นไหม้โชย
อากาศฝนตกชุก ความชื้นสูงแบบบ้านเรา ถามทฤษฏีแนะนำให้ล้างดูแลทุกอย่างทุกๆ 3 เดือน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น