วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558

5 วิธีดื่มน้ำบนจักรยาน


มันอาจจะเป็นเรื่องง่ายๆที่ง่ายแสนง่ายจนหลายๆคนตั้งคำถามว่าทำไมต้องเอามาทำเป็นบทความด้วยนะ แต่จากเรื่องราวบอกเล่าที่ได้รับมา จากข่าวสารของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น และเรื่องเล่าจากหน้าโซเชียลไม่นานมานี้ เราจึงตัดสินใจหยิบเรื่องง่ายๆนี้แหละมาเล่าสู่กันฟัง มากลั่นกรองออกมาเป็น 5 ข้อหลักๆที่เชื่อว่าหลายๆคนอาจยังไม่ได้สังเกตุว่าการดื่มน้ำที่ไม่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดเรื่องใหญ่ระดับเสียหายหลายแสน ไปจนถึงเจ็บเนื้อเจ็บตัวได้ไม่ยากเลย
แต่ละคนอาจมีวิธีและกลเม็ดที่แตกต่างกันไป แต่ Velopedia เชื่อว่า 5 วิธีนี้จะครอบคลุมวิธีดื่มต่างๆที่พึงปฏิบัติ และแม้ว่ามันจะเป็นเรื่องที่ง่ายแสนง่าย หลายๆคนคงไม่พบปัญหากับมัน แต่ก็อยากฝากให้แชร์ต่อกันไปครับ น่าจะมีเพื่อนนักปั่นที่ได้รับประโยชน์จากบทความนี้อยู่ หวังว่าบทความจะสามารถเจาะเข้าไปหาเพื่อนนักปั่นได้ทั่วถึง เพื่อความสุข สนุก และปลอดภัยของทุกท่านนะครับ



1.จุกมีไว้..ฉีด ไม่ได้เอาไว้ดูด
ข้อแรกนั้นอาจจะไม่เกี่ยวกับความปลอดภัยมากนัก แต่เป็นสิ่งที่หลายๆท่านอาจไม่รู้ โดยเฉพาะเพื่อนนักปั่นที่มาจับจักรยานเป็นครั้งแรกๆ ขวดน้ำจจักรยานมีจุดที่แลดูคล้าย"ขวดนม" เอาเข้าปาก งับจุกให้เลื่อนออก แล้ว ดูดน้ำดื่มเข้าไป ....แต่จริงๆไม่ใช่นะครับ จุกนี้เอาไว้ปิดไม่ให้มีอะไรเข้าไปในขวดได้ และสามารถเปิดให้น้ำออกมาได้ง่ายๆโดยไม่ต้องบิดหรือดัน จุกไม่หลดกระเด็นไป และวิธีเอาน้ำออกจากขวดที่เหมาะที่สุดคือการ"บีบ"ขวดให้น้ำพุ่งออกมาทางจุกเข้าปากของท่าน เพราะหากท่านๆเราๆดูดน้ำ คงต้องแหงนหน้าตั้งขวดดูดกันเป็น baby นอนดูดขวดนมเวลาน้ำใกล้หมด แต่การบีบสามารถอัดน้ำออกมาได้โดยที่ไม่ต้องยกขวดตั้งมาก ที่สำคัญ...เชื่อว่าหลายๆท่านคงไม่ค่อยได้ล้างจุก... พยายามให้จุกโดนปากน้อยที่สุดเพื่อป้องกันการสะสม หมักหมดเชื้อโรคเลยนะครับ ถึงจะปากเราเองก็เถอะ

2.ปิดตาคลำ จับยัดใส่
จักรยานเป็นพาหนะ ที่เดินทางด้วยความเร็ว และอยู่ห่างกันเพียงไม่กี่ฟุต การละสายตาจากภาพเบื้องหน้าเพียงไม่กี่วินาที อาจก่อให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ หรือเรียกอีกอย่างว่าประมาทเมื่อไหร่ อันตรายก็ถามหา ใช่แล้วครับ...ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม พยายามอย่าละสายตาออกจากเบื้องหน้าของเราเลยจะดีที่สุด จะหยิบ จะจับขวด จะใส่กลับไปที่เดิม พยายามทำให้ได้โดยไม่ต้องก้มลงไปมอง ฟังดูแล้วอาจเป็นไปได้ยาก แต่ลองจินตนาการว่าเวลาที่ขับรถยนต์ เคยมีใครต้องก้มลงไปมองหาแป้นเบรคก่อนเหยียบเบรคหรือไม่? มีใคต้องมองหาคันเกียร์ก่อนเข้าเกียร์หรือไม่? ความเคยชินและความคล่องแคล่วคือสิ่งสำคัญ หมั่นฝึกฝนและทำความคุ้นเคยกับจักรยานที่ท่านขี่ ยั่งท่านขี่และฝช้เวลากับมันมากขึ้นก็ยิ่งสามารถหยิบฉวยจับอะไรๆได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องก้มไปมองให้เสี่ยงอันตราย

3.มือซ้าย มือขวา มือไหนดีนะ
เคยสังเกตุไหมครับว่าบางครั้งการละมือหนึ่งมาหยิบขวดน้ำเพื่อดื่ม เราเหลือมืออะไรเอาไว้และจะส่งผลอย่างไร ในสภาพปกติก็คงไม่มีอะไรน่ากังวล แต่ลองนึกภาพว่าหากมือขวาของท่านกำลังถือขวดน้ำบีบเข้าปาก แล้วเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นเบื้องหน้าจำเป็นต้องเบรคอย่างแรง มือที่กำเบรคคือ...มือซ้าย และเบรคที่ห้ามล้อได้แก่เบรค ...หน้า ถ้าความ "ซวย" มาพร้อมกัน ความเร็วและจังหวะเหมาะ ท่านอาจจะได้บินข้ามแฮนด์และเสียหลักล้มลงไม่ยากเลย เพราะเบรคหน้าหากกำแรงๆสามารถส่งกำลังเบรคล็อคได้ทันที ดังนั้นในสถานการณ์สุ่มเสี่ยง ควรสามารถใช้มือซ้ายหยิบฉวยเพื่อปล่อยมือขวาเอาไว้ควบคุมรถจะดีกว่า แต่คนส่วนมากถนัดมือขวา จึงใช้มือขวาในการหยิบจับสิ่งของ อาจจะเป็นเป็นเรื่องเล็กๆ แต่สถานการณ์บางอย่างเช่นลงเขายาวๆ ทางไม่คุ้นชินและกลุ่มแออัดหนาแน่น ...ลองทบทวนสักนิดเพื่อความปลอดภัย

4.อย่าแหงนหน้า เอียงตัวเชียว
เวลายกขวดน้ำขึ้นเพื่อดื่มน้ำ หลายๆท่านยกขวดขึ้นตรงๆเบื้องหน้าแล้วแหงนหน้าขึ้นด้านบนเพื่อบีบให้น้ำเข้าปาก และจังหวะนั้นเองที่ท่านอาจมองไม่เห็นภาพเบื้องหน้า หรือแม้แต่หลายๆท่านเสียจังหวะการทรงตัวเมื่อหยิบขวดน้ำแล้วดื่มน้ำ รถส่ายไปส่ายมาเพราะตัวเอียงไปด้านข้าง วิธีที่เหมาะคือการยกขวดน้ำขึ้นเฉียงไปด้านข้าง ยกขึ้นนิดหน่อย เอียงหน้าอ้าปาก แค่นี้น้ำก็เข้าปากได้โดยที่ไม่ต้องเอียงทั้งตัวและละสายตาจากภาพข้างหน้า อยากให้ทุกท่านลองคิดเอาไว้ว่าไม่ว่าจะเป็นการดื่มน้ำ กินอาหาร หยิบของ ใส่เสื้อ หากท่านรักจะปั่นจักรยานจริงจังแล้วล่ะก็ ต้องฝึกหัดทักษะที่จะใช้ชีวิตอยู๋บนจักรยานได้อย่างสบายๆ ไม่เกร็ง ไม่เสียการทรงตัว เพราะทุกขณะเวลาที่เราเดินทางไปบนจักรยานเราควรสามารถควบคุมทุกอย่างได้มากที่สุด เพื่อความปลอดภัยของตัวเราและเพื่อนร่วมทางที่ไปด้วยกัน

5.บริหารน้ำทั้งสองขวด ให้ง่ายต่อการใช้
เป็นทริคเล็กๆที่หลายคนอาจไม่สังเกตุ เคยสังเกตุตัวเองไหมครับว่าท่านหยิบขวดน้ำทั้งสองขวดถนัดไม่เท่ากัน? ด้วยระยะเอื้อมและองศาที่ต่างกัน แต่ละคนจะถนัดขวดน้ำต่างกัน บางคนถนัดขวดที่ท่อนั่งมากกว่า บางคนถนัดขวดที่ท่อล่างมากกว่า ขวดที่ถนัดที่สามารถหยิบฉวยได้ง่ายและเร็วควรใช้เมื่อยามจำเป็นเช่นกรณีความเร็วสูง เส้นทางไม่คุ้นเคย คนหน้าแน่น ส่วนขวดที่ไม่ถนัดมากเท่า ใช้มันเวลาที่ถนนโล่ง ความเร็วไม่สูง และหากน้ำหมดขวดหนึ่งลองสลับขวดที่ยังไม่หมดมาไว้ในโครงกระติกที่เราถนัดสิครับ ชีวิตที่ง่ายดายจะอยู่คู่กับจักรยานไปตลอดกาล แปลง่ายๆก็คือถ้ามันยุ่งยากมากเราเลือกทำสิ่งที่ง่ายก่อน หากชีวิตไม่ได้ลำบากก็หยิบฉยอะไรที่ยากกว่าเก็บของง่ายๆเอาไว้ยามวุ่นวายดีกว่า สุดท้ายฝากว่าไม่ว่าจะแข่งขันหรือไม่แข่งขัน อยากให้ช่วงเวลาการดื่มน้ำผ่านไปโดยเร็วที่สุด แน่นอนครับในการแข่งขันการหยิบน้ำดื่ม ชักช้า อ้อยอิ่ง หรืองุ่มง่ามเก็บขวดน้ำไม่ลงรูสักที เป็นโอกาสช้ชะตาที่โดนคู่แข่งถือโอกาสหนีไปมาหลายกรณีแล้ว แต่สำหรับการขี่ปกติที่ไม่แข่งไม่ได้รีบร้อนแม้ว่าจะไม่ต้องมาเร่งรีบ แต่ช่วงเวลาที่ดื่มน้ำท่านเหลือมือคุมรถอยู่เพียงมือเดียว สมรรถนะในการควบคุมลดลงมาก โอกาสเกิดอุบัติเหตุมีสูงขึ้น
ด้วยเหตุนี้พยายาม"ฝึกฝน" การดื่มน้ำให้ถูกวิธีและปลอดภัยควบคู่กับการปั่นจักรยานให้ดีและแข็งแรง นอกจากจะดีต่อตัวท่านเอง ยังดีต่อเพื่อนร่วมทางที่ไปด้วยกัน เพราะการพลาดเพียงเสี้ยววินาทีที่ขวดน้ำหลุดมือท่านลงไปบนพื้น อาจทำให้เพื่อนที่ตามหลังมาต้องสะดุดล้ม หรือหลบกันให้วุ่นวายจนอาจเกี่ยวกันเกิดอุบัติเหตุได้
เรื่องง่ายๆที่อาจทำให้เกิดความเสียหายได้ ถึงเราจะไม่อยากเรียกมันว่า"ความประมาท" หรือ "เลินเล่อ" แต่คงต้องยอมรับว่าหากฝึกฝนจนมีทักษะที่ดี ความเสี่ยงก็จะลดน้อยลงไปด้วยนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น